ธุรกิจการตลาด

เกาหลีใต้เตรียมนำ 'หนังสือเรียนดิจิทัล' มาใช้ ผู้ปกครองหวั่นลูกติดจอ

22 ส.ค. 67
เกาหลีใต้เตรียมนำ 'หนังสือเรียนดิจิทัล' มาใช้ ผู้ปกครองหวั่นลูกติดจอ

แผนการของเกาหลีใต้ในการแนะนำหนังสือเรียนดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย AI มาใช้ในโรงเรียน กำลังเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ปกครองและนักวิชาการอย่างหนัก หลังกังวลว่า นักเรียนจะสัมผัสกับอุปกรณ์ดิจิทัลมากเกินไป และเสี่ยงต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ Lee Ju-ho ได้ประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า แท็บเล็ตที่มีคุณสมบัติ AI จะมีความจำเป็น สำหรับการปรับปรุงระบบการศึกษาของเกาหลีครั้งใหญ่ โดยหนังสือเรียน AI เหล่านี้ คาดว่าจะใช้เรียนหนังสือในต้นปีหน้า โดยตั้งเป้าใช้งานกับนักเรียนที่อายุ 8 ปีขึ้นไป 

โครงการริเริ่มนี้ ทางรัฐบาลอ้างว่า เป็นโครงการแรกของโลก ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้ปกครองที่ไม่สบายใจถึงการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ โดยเฉพาะเมื่อบุตรหลานใช้เวลาอยู่หน้าจอจำนวนมากอยู่แล้ว

เกาหลีใต้ ขึ้นชื่อในด้านประสิทธิภาพจากการประเมินเมื่อเทียบกับนักเรียนต่างชาติ แต่รัฐบาลเกรงว่า การเน้นย้ำเรื่องการท่องจำแบบดั้งเดิมจะขัดขวางความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ประเทศพยายามที่จะเลิกพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิม

Lee เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนจากห้องเรียนแบบท่องจำไปเป็นห้องเรียนที่นักเรียนสามารถมีส่วนร่วม และรับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเองได้ กระทรวงศึกษาธิการระบุว่าแท็บเล็ตที่ใช้ AI จะสามารถปรับแต่งได้ ทำให้ คนที่เรียนรู้เร็ว และคนที่เรียนรู้ช้า ได้รับงานที่แตกต่างกัน ซึ่งปรับให้เหมาะกับความสามารถของตน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้ให้รายละเอียดมากมายเกี่ยวกับวิธีการทำงานของตำราเรียน AI และเครื่องมืออื่นๆ ที่พัฒนาโดยบริษัทเทคโนโลยีเกาหลี เช่น LG และ Samsung หรือวิธีหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ เช่น ข้อผิดพลาดของ AI

แต่ได้ระบุว่า ภายในปี 2028 แอป AI จะเปิดตัวในทุกวิชาเรียน ยกเว้นดนตรี ศิลปะ พลศึกษา และจริยธรรม คุณครูจะติดตามความคืบหน้าของนักเรียนผ่านแดชบอร์ดดิจิทัล และนักเรียนจะได้รับบทเรียนความรู้ดิจิทัลเพื่อใช้เครื่องมือ AI อย่างมีความรับผิดชอบ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่ง กล่าวว่า หนังสือเรียน AI จะช่วยให้คุณครูสามารถประเมินจังหวะ และระดับการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนได้ โดยให้การศึกษาเฉพาะบุคคล ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า หนังสือเรียน AI สามารถทำให้นักเรียนมีส่วนร่วม และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากมีเนื้อหาที่หลากหลาย

ส่วนเครื่องมือ AI อื่นๆ ที่วางแผนไว้สำหรับห้องเรียน มีทั้งโปรแกรมที่สามารถถอดเสียงคำพูดของครูลงบนไวท์บอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ และหุ่นยนต์เคลื่อนที่ที่ให้คำตอบที่สร้างโดย AI สำหรับคำถามของนักเรียน

อย่างไรก็ตาม Shin Kwang-young ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัย Chung-Ang แย้งว่า รัฐบาลกำลังผลักดันตำราเรียน AI เร็วเกินไป โดยไม่พิจารณาถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างเต็มที่ เพียงเพราะว่า AI กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน

ผู้ปกครองมากกว่า 50,000 รายได้ลงนามในคำร้องเพื่อขอให้รัฐบาลคิดอย่างรอบคอบมากขึ้นเกี่ยวกับความเป็นอยู่โดยรวมของนักเรียน เช่น Lee Sun-young คุณแม่ลูกสอง ที่อยากให้มีคุณครูหลังเลิกเรียนมากกว่าหนังสือเรียนแบบ AI โดยกลัวว่าการใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมอง สมาธิ และทักษะการแก้ปัญหาของลูกๆ

แต่สำหรับคุณครูบางคน กลับสนับสนุนการเคลื่อนไหวนี้ โดยจากการสำรวจพบว่าคุณครูโรงเรียนของรัฐมากถึง 54% สนับสนุนการนำหนังสือเรียน AI มาใช้ 

แนวทางของเกาหลีใต้แตกต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ซึ่งมีแนวโน้มในการจำกัดการเข้าถึงสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของเด็กในโรงเรียน ศาสตราจารย์ Shin เตือนว่า AI ในห้องเรียนอาจเกินการควบคุม โดยมีความเสี่ยง เช่น การแพร่กระจายข้อมูลเท็จ การลอกเลียนแบบ และการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล

เขาเน้นย้ำว่า การจัดการข้อกังวลเกี่ยวกับการเรียนรู้แบบท่องจำควรเกี่ยวข้องกับการยกเครื่องระบบการศึกษาใหม่ทั้งหมด รวมถึง การเปลี่ยนแปลงวิธีการสอบด้วย

advertisement

SPOTLIGHT