ในขณะที่โลกกำลังเผชิญคลื่นเศรษฐกิจชาตินิยมและมาตรการกีดกันการค้าแบบรุนแรงจากสหรัฐฯ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีน ได้เลือก “เวียดนาม” เป็นประเทศแรกในการเยือนต่างประเทศปี 2025 เพื่อประกาศจุดยืนใหม่ของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกระชับความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านที่มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก
ภายในเวลาเพียง 48 ชั่วโมงของการเยือนอย่างเป็นทางการ สีได้พบหารือกับ โตเลิม (To Lam) เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม พร้อมร่วมลงนาม ข้อตกลงความร่วมมือจำนวน 45 ฉบับ เปิดตัว “กลไกความร่วมมือทางรถไฟจีน-เวียดนาม” และย้ำความมุ่งมั่นในการสร้าง “ประชาคมจีน-เวียดนามที่มีอนาคตร่วมกัน” ท่ามกลางแรงเสียดทานทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ
ระหว่างการเยือน ผู้นำจีนและเวียดนามได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOUs) จำนวน 45 ฉบับ ครอบคลุมหลายมิติ ทั้งการค้า การลงทุน ห่วงโซ่อุปทาน ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานสีเขียว ระบบราง การคมนาคม และความร่วมมือระหว่างพรรค
หนึ่งในข้อตกลงที่สำคัญคือบันทึกความเข้าใจระหว่าง สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของจีน (China Council for the Promotion of International Trade) และ หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (Vietnam Chamber of Commerce and Industry) ซึ่งมีบทบาทในการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าให้กับผู้ส่งออกเวียดนาม
นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิด “กลไกความร่วมมือทางรถไฟจีน-เวียดนาม” ที่กรุงฮานอย โดยเน้นเป้าหมายร่วมกันในการเร่งสร้างเส้นทางรถไฟมาตรฐานสากลเพื่อเชื่อมโยงจีนกับเวียดนามทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์
โตเลิม ระบุผ่านบทความในสื่อจีนเมื่อวันจันทร์ว่า เวียดนามต้องการขยายความร่วมมือกับปักกิ่งในด้านกลาโหม ความมั่นคง และโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการรถไฟเชื่อมสองประเทศ
โดยในเบื้องต้น เวียดนามได้ตกลงที่จะใช้เงินกู้จากจีนในการพัฒนาเส้นทางรถไฟใหม่ ซึ่งนับเป็นหมากสำคัญในการเสริมความเชื่อมั่นและขยายการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ถึงแม้ข้อตกลงสินเชื่ออย่างเป็นทางการยังไม่มีการประกาศ โตเลิมก็ได้ส่งสัญญาณผ่านสื่อรัฐเวียดนาม เรียกร้องให้จีนเสนอเงินกู้แบบเงื่อนไขผ่อนปรนให้แล้ว
นอกจากนี้ จีนยังประสบความสำเร็จในการผลักดันให้เวียดนามรับรองเครื่องบินโดยสารจากบริษัท COMAC ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าในการเจาะตลาดอาเซียนของผู้ผลิตอากาศยานจีน หลังจากต้องดิ้นรนหาผู้ซื้อจากต่างประเทศมาโดยตลอด
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สายการบินต้นทุนต่ำ Vietjet ของเวียดนาม ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ COMAC ที่กรุงฮานอย โดยแหล่งข่าวของรอยเตอร์ระบุว่า Vietjet จะเช่าเครื่องบินรุ่น C909 จำนวน 2 ลำจาก Chengdu Airlines พร้อมลูกเรือจีน เพื่อให้บริการในเส้นทางภายในประเทศของเวียดนาม
นอกจากข้อตกลงและความร่วมมือดังกล่าวแล้ว สี จิ้นผิง ยังกล่าวว่าในการพบปะครั้งนี้ ทั้งสองประเทศยังได้เห็นพ้องกันในการส่งเสริมภารกิจของสังคมนิยมโลก และยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ โดยใช้กรอบแนวทาง 6 ประการ ที่จีนเรียกว่า “6 มาก” หรือ "six mores" ซึ่งประกอบด้วย
ผู้นำจีนเน้นว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะมีบทบาทสำคัญในการปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมความเป็นธรรมในเวทีระหว่างประเทศ ขณะที่โตเลิมกล่าวว่า ข้อตกลงและความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของเวียดนามในการเผชิญหน้ากับความท้าทายภายนอก ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองพรรคสังคมนิยม และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ตู หลาน (Tu Lan) รองผู้อำนวยการแผนกวิจัยเอเชียแปซิฟิก สังกัดสถาบันวิจัยกิจการระหว่างประเทศจีน (China Institute of International Studies) ระบุว่า การที่สีเลือกเวียดนามเป็นจุดหมายแรกของการเยือนต่างประเทศในปีนี้ สะท้อนถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ตูระบุว่า แนวทาง “6 ด้าน” ที่จีนผลักดัน ได้แก่ ความร่วมมือทางทะเล ความมั่นคง ความร่วมมือภาคประชาชน การประสานในเวทีพหุภาคี และการต่อต้านนโยบายกีดกันการค้า จะช่วยเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของ “ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน” ให้กลายเป็นความจริง
นอกจากนี้ ตูยังกล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน-เวียดนามในปัจจุบันถือเป็น “แบบอย่างของความร่วมมือใต้-ใต้” หรือความร่วมมือระหว่างประเทศ Global South ที่กำลังพัฒนา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความปั่นป่วนจากนโยบายชาตินิยมและการปิดกั้นทางการค้า
ปัจจุบัน ท่ามกลางแรงกดดันจากสองขั้วอำนาจเศรษฐกิจของโลกอย่างจีนและสหรัฐฯ เวียดนามกำลังเดินเกมอย่างระมัดระวัง เพราะทั้งสองประเทศต่างมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม โดยในขณะที่จีนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม เวียดนามก็พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ในฐานะประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในการส่งออกเช่นกัน
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 เวียดนามนำเข้าสินค้าจากจีนคิดเป็นมูลค่าราว 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงกว่าเล็กน้อย อยู่ที่ 31,400 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขนี้สะท้อนชัดถึงความเชื่อมโยงลึกซึ้งในโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานแบบ “สามเหลี่ยม” คือ จีนเป็นแหล่งวัตถุดิบ เวียดนามเป็นฐานผลิต และสหรัฐฯ เป็นตลาดปลายทาง
แต่เมื่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนปะทุขึ้นอีกครั้งภายใต้นโยบาย “Liberation Day” และ “Reciprocal Tariffs” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ซึ่งตั้งกำแพงภาษีสูงถึง 145% ต่อสินค้าจีน เวียดนามก็กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ทั้งสองฝ่ายจับตา เพราะเป็นตัวกลางสำคัญในเส้นทางการค้าโลก
การเยือนเวียดนามของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา จึงไม่ใช่แค่การทูตตามปกติ แต่มีเป้าหมายชัดเจนในการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตร และลดแรงกระแทกจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยสี จิ้นผิงได้เตือนว่า “ไม่มีผู้ชนะในสงครามภาษี” และเรียกร้องให้ประเทศในภูมิภาคร่วมกันต้าน “การกลั่นแกล้งฝ่ายเดียว” ซึ่งตีความได้ว่าเป็นการวิพากษ์นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
ในทางกลับกัน เวียดนามเองก็กำลังเร่งเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าสูงถึง 46% ที่มีแนวโน้มจะถูกบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังหมดอายุข้อตกลงพักภาษีโลก และเพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าของข้อกล่าวหาว่าเป็นช่องทางหลบเลี่ยงภาษีจีน เวียดนามได้เพิ่มมาตรการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะสินค้าที่ติดฉลาก “Made in Vietnam” ว่ามีการเพิ่มมูลค่าภายในประเทศจริงหรือไม่
ขณะเดียวกัน เวียดนามก็แสดงความเปิดกว้างต่อสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยี โดยอนุญาตให้บริษัท Starlink ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) เข้ามาให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมในประเทศ ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่าเวียดนามไม่ได้ผูกขาดความสัมพันธ์กับจีนเพียงฝ่ายเดียว และพร้อมเปิดทางให้เทคโนโลยีจากโลกตะวันตกเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
เวียดนามยังใช้เครื่องมือป้องกันทางการค้าอย่างจริงจัง โดยออกมาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกับผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนหลายรายการ และยกเลิกการยกเว้นภาษีนำเข้าพัสดุราคาต่ำ เพื่อควบคุมการหลั่งไหลของสินค้าราคาถูกจากจีนที่กระทบอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ในสถานการณ์ที่โลกถูกแบ่งเป็นขั้ว เวียดนามจึงไม่ได้เลือกข้าง แต่กำลังเลือก “ทางรอด” ที่ยืดหยุ่น บนพื้นฐานของผลประโยชน์แห่งชาติ การเดินเกมอย่างระมัดระวังของเวียดนามในเวลานี้ อาจเป็นตัวอย่างของประเทศขนาดกลางที่สามารถใช้กลยุทธ์สมดุลเพื่ออยู่รอดและเติบโตท่ามกลางแรงถ่วงอันหนักหน่วงจากสองฝั่งมหาอำนาจ
ที่มา: The Guardian, The China Daily, Reuters