Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
GDPจีน Q1 โตพุ่ง 5.4% ผู้ส่งออกแห่ระบายของไปสหรัฐฯ ก่อนภาษีทรัมป์มีผล
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

GDPจีน Q1 โตพุ่ง 5.4% ผู้ส่งออกแห่ระบายของไปสหรัฐฯ ก่อนภาษีทรัมป์มีผล

16 เม.ย. 68
15:15 น.
แชร์

ท่ามกลางพายุการค้าและแรงสั่นสะเทือนจากเศรษฐกิจโลก มาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มุ่งโจมตีหัวใจของห่วงโซ่การผลิตจีน กลับส่งผลตรงกันข้ามในระยะสั้น กลายเป็นแรงผลักสำคัญที่ช่วยเร่งให้เศรษฐกิจจีนทะยานขึ้นอย่างเหนือความคาดหมายในช่วงต้นปี 2025

แทนที่โรงงานจีนจะชะลอกำลังผลิตท่ามกลางความไม่แน่นอน พวกเขากลับเร่งเครื่องเต็มสูบ ส่งออกสินค้าให้ได้มากที่สุดก่อนที่มาตรการภาษีรอบใหม่จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ ส่งผลให้ตัวเลข GDP และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในไตรมาสแรกขยายตัวอย่างโดดเด่น ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน

แต่เบื้องหลังความคึกคักในช่วงแรก เศรษฐกิจจีนยังซ่อนแรงกดดันที่เริ่มปะทุ ภาษีศุลกากรในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์กำลังกัดกร่อนศักยภาพการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นในตลาดแรงงานเริ่มสั่นคลอน และภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา ไม่อาจฟื้นตัวได้อย่างแท้จริง

GDP จีนขยายตัว 5.4% YOY ผู้ส่งออกเร่งระบายของไปสหรัฐฯ

ในวันนี้ (16 เม.ย.) สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) เปิดเผยว่า GDP ของประเทศจีนในไตรมาสแรกปี 2025 ขยายตัว 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.2% จากไตรมาสสุดท้ายของปี 2024 หากแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีนจะเติบโตที่ระดับ 4.9% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 5.2% และถือเป็นสัญญาณเชิงบวกในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยแรงกดดันจากต่างประเทศ

แรงหนุนสำคัญมาจากภาคการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในเดือนมีนาคม การส่งออกของจีนเพิ่มขึ้น 12.4% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งระบายสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ก่อนที่ภาษีใหม่จะมีผลในต้นเดือนเมษายน ส่งผลให้ภาคการผลิตขยายตัว 7.7% ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2021

ในขณะที่ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 5.9% ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2023 และสูงกว่าคาดการณ์ที่ 4.3% โดยสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และโทรศัพท์มือถือมียอดขายพุ่งขึ้นราว 30% จากการสนับสนุนของรัฐบาลผ่านมาตรการอุดหนุนการซื้อสินค้าในประเทศ ขณะนี้ยอดขายเครื่องประดับเพิ่มขึ้น 11% ตามราคาทองคำที่ทะยานขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังได้รับการกระตุ้นจากภาคบริการที่กำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะการบริโภคในร้านอาหารซึ่งเพิ่มขึ้น 5.6% ในเดือนมีนาคม ถือเป็นอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในรอบปี หลังรัฐบาลท้องถิ่นออกคูปองลดราคากระตุ้นการบริโภคด้านอาหารและการท่องเที่ยว 

ปัจจุบัน รัฐบาลจีนเริ่มให้ความสำคัญกับภาคบริการและการกระตุ้นการบริโภคในประเทศมากขึ้น โดยในแผนปฏิบัติงานล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นๆ ได้เสนอ 48 มาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนในด้านอาหาร การดูแลสุขภาพ ความบันเทิง การท่องเที่ยว และกีฬา

อนาคตไม่แน่นอน ภาษีทรัมป์จ่อตัดตอน GDP

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกจะดูแข็งแกร่ง แต่นักวิเคราะห์เตือนว่า จีนอาจไม่สามารถรักษาโมเมนตัมนี้ได้ในอนาคต เพราะมีแรงกดดันหลายประการ โดยเฉพาะมาตรการภาษีของทรัมป์ที่เริ่มบังคับใช้ในเดือนเมษายน หรือต้นไตรมาสที่ 2

เมื่อวันที่ 2 เมษายน ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ยกระดับภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนอย่างรุนแรง โดยล่าสุดกำหนดอัตราภาษีสูงถึง 145% สำหรับสินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้า ถือเป็นระดับภาษีที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของการค้าสองประเทศ

ก่อนหน้านั้นในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม สหรัฐฯ ได้ทยอยขึ้นภาษีจีนในระดับ 10% แล้วสองรอบ แต่ผู้ส่งออกยังสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบโดยการเร่งส่งสินค้าได้ อย่างไรก็ตาม มาตรการในเดือนเมษายนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อภาษีระดับสูงเริ่มกัดกินความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในจีนตอนใต้ที่มีรายงานว่าโรงงานบางแห่งเริ่มปิดสายการผลิตตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังขยายมาตรการภาษีไปยังสินค้าที่ผลิตในประเทศอย่างเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งมีการใช้ชิ้นส่วนจากจีน แม้มาตรการบางส่วนจะถูกชะลอ แต่ประเทศเหล่านี้ยังคงเผชิญภาษีขั้นต่ำ 10% เช่นเดียวกับจีน 

ขณะเดียวกัน ปัจจัยภายในประเทศเองก็ยังเป็นภาระที่ถ่วงรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้น ข้อมูลของ NBS สะท้อนว่าการลงทุนในอสังหาฯ ลดลงเกือบ 10% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2024 ส่วนราคาบ้านใหม่ในเดือนมีนาคมยังคงทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาพรวมที่ยังเต็มไปด้วยบ้านว่างและความต้องการซื้อที่ยังไม่กระเตื้อง

ประชุม Politburo สิ้นเดือนนี้ จับตาแพ็กเกจอัดฉีด

สำหรับมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน นักวิเคราะห์กำลังจับตาการประชุมคณะกรมการการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Politburo) ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ ในฐานะเวทีสำคัญที่จะชี้ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะถัดไป โดยเฉพาะในประเด็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

โดยแม้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 5.4% ในไตรมาสแรก แต่นักวิเคราะห์เตือนว่า หากรัฐบาลเลือกที่จะ “รอดูสถานการณ์” แทนที่จะออกนโยบายทันที ความล่าช้าอาจยิ่งซ้ำเติมผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่เริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบในเดือนนี้

บรรดาสถาบันการเงินระดับโลก เช่น UBS, Goldman Sachs, Citigroup และ Societe Generale ต่างปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีนในปี 2025 ลงมาอยู่ที่ระดับ 4% หรือต่ำกว่านั้น โดยเห็นตรงกันว่า หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในระยะเวลาอันใกล้ จีนอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ “ประมาณ 5%” ตามที่รัฐบาลตั้งไว้ได้

ทางด้าน Bloomberg Economics แนะนำให้จีนเร่งเบิกงบประมาณล่วงหน้า พร้อมทั้งปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และลดอัตราสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่การส่งออกจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งหลังของปี

Michelle Lam นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Societe Generale กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า “มาตรการกระตุ้นยังคงเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะข้อมูลเศรษฐกิจรายวันบางส่วนเริ่มสะท้อนผลกระทบจากภาษีต่อสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ แล้ว”

Raymond Yeung นักเศรษฐศาสตร์ประจำ ANZ ระบุว่า จีนต้องหันมาพึ่งการบริโภคภายในประเทศเป็นกลไกหลักของเศรษฐกิจ “แม้ตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือนมีนาคมจะออกมาดีเกินคาด แต่ก็ยังอยู่ในภาวะเปราะบาง และขึ้นอยู่กับขนาดและจังหวะของมาตรการกระตุ้นที่จะออกมาว่าจะเพียงพอหรือไม่”



แชร์
GDPจีน Q1 โตพุ่ง 5.4% ผู้ส่งออกแห่ระบายของไปสหรัฐฯ ก่อนภาษีทรัมป์มีผล