รู้ไว้ไม่เสียหาย! รวมสุดยอด กลโกงมิจฉาชีพ สายท่องเที่ยวต้องระวัง กลเม็ดเด็ดชอบหลอกนักท่องเที่ยว หลอกทุกอย่างจนไม่น่าไว้ใจ มีอะไรบ้างดูเลย!
การเดินทางท่องเที่ยว ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ล้วนอาจเจอมิจฉาชีพได้ทุกครั้ง บางครั้งอาจเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการจองเลยก็ว่าได้ เริ่มตั้งแต่จองโปรแกรมทัวร์ จองที่พัก บางรายอาจโดนหลอกตั้งแต่บริษัทที่รับจองตั๋วเครื่องบิน หากโชคดีหน่อยเริ่มต้นทริปด้วยการจองที่พัก ทำแพลนทัวร์เองตั้งแต่ต้นจนจบ ก็อาจจะโชคดีได้ไปเที่ยวในสถานที่นั้น แต่ก็ไม่ว่าต้องมานั่งกังวลกับ กลโกงมิจฉาชีพ ที่เมื่อไปถึงสถานที่แล้ว อาจต้องเจอกับเรื่องช็อกอีกหลายเรื่อง วันนี้ Amarin ได้รวบรวม กลโกงมิจฉาชีพ ที่อาจพบเจอได้ เมื่อเวลาที่เดินทางไปท่องเที่ยวมาฝาก หากพร้อมแล้วไปเช็กกันเลยว่าเคยเจอเหตุการณ์เหล่านี้หรือไม่
กลโกงมิจฉาชีพ : บังคับให้ซื้อของ
สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่คนนิยมแห่กันไป ด้วยปริมาณคนที่เยอะเป็นทุนเดิม อาจเจอมิจฉาชีพที่บังคับให้จ่ายเงินย่อมได้เช่นกัน บางครั้งอาจมีการสวมรอยเป็นพ่อค้าแม่ค้า หรือเจ้าหน้าที่ประจำจุดดังกล่าว ด้วยการยัดของหรือยื่นสินค้าบางอย่างใส่มือ หากเผลอแบมือรับจะเริ่มมีการโวยวาย หาว่าไม่ยอมจ่ายเงิน ก่อนที่จะเรียกพวกมาล้อม บางที่อาจหนักข้อด้วยการอาศัยจังหวะชุลมุนในการล้วงกระเป๋าได้
กลโกงมิจฉาชีพ : แกล้งทำของหล่น
บางครั้งการอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยว ย่อมมีคนทำของหล่นได้เป็นเรื่องปกติ แต่มันจะเริ่มไม่ปกติตรงที่คนทำเหตุการณ์นั้น เป็นคนเดิมคนเดียวกับที่เคยเห็น บางครั้งที่พบเจอสถานการณ์คนทำของหล่น และอาสาเข้าไปช่วยเหลือด้วยความใจดี อาจเป็นช่วงเวลาทอง ที่มิจฉาชีพใช้โอกาสนี้ในการฉกเอาของมือค่าไปได้ โดยเฉพาะคนที่ชอบการเดินทางคนเดียว มีโอกาสเจอเรื่องแบบนี้ได้บ่อยที่สุด
กลโกงมิจฉาชีพ : โจรนักบุญ ช่วยเหลือแต่จะเอาค่าตอบแทน
เมื่อตัวเราเองต้องการความช่วยเหลือ เพราะสถานที่ที่ไปไม่คุ้นชิน อาจมีคนที่ดูท่าทางใจดี เข้ามาแสดงตัวมีน้ำใจด้วยการช่วยในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ เช่น มีคนเข้ามาช่วยซื้อตั๋วให้ หรือช่วยยกของพะรุงพะรังให้ คนเหล่านั้นอาจเรียกร้องเพื่อต้องการค่าตอบแทนในภายหลัง เมื่อคุณปฏิเสธที่จะให้สินน้ำใจ คนเหล่านั้นอาจโวยวายจนเป็นสาเหตุในการทะเลาะในที่สาธารณะก็เป็นได้
กลโกงมิจฉาชีพ : นักถ่ายรูปตามที่สาธารณะ
การไปเที่ยวย่อมต้องการภาพแห่งความทรงจำเสมอ บางครั้งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งขณะที่คุณไปช่วยคนอื่น และคุณกำลังถูกข้อให้ช่วย เช่น เมื่อคุณตอบรับในการถ่ายรูปให้ มิจฉาชีพอาจใช้ช่วงเวลาที่คืนของในการทำกล้องหรือโทรศัพท์ตก เพื่อที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากคุณ หรือเมื่อจังหวะที่คุณพยายามจะเซลฟี่ หรือใช้ขาตั้งกล้องในการถ่ายรูปตัวเอง มิจฉาชีพอาจจะเข้ามาด้วยความมีน้ำใจ และเรียกเก็บค่าถ่ายรูปในภายหลัง กรณีที่เลวร้ายที่สุดก็คือของมีค่าเราหายวับไปกับตานั่นเอง
กลโกงมิจฉาชีพ : คนถามทางแบบนักท่องเที่ยว
มิจฉาชีพบางคนอาจอยู่ในคราบของนักท่องเที่ยวด้วยกันนี่แหละ เพียงแต่ใช้ลูกเล่นการถามทางเข้ามาช่วย บางคนเข้ามาทำท่าถามทาง พร้อมต้องการความช่วยเหลือ เมื่อใดก็ตามที่พยายามช่วยคนเหล่านั้น อาจถูกจังหวะที่ลดการ์ดการป้องกันในการฉกของมีค่าไปได้
กลโกงมิจฉาชีพ : เจ้าหน้าที่ปลอม ตำรวจปลอม
บางรายอาจเจอขั้นหนักอย่างเจ้าหน้าที่ปลอม หรือตำรวจปลอมได้ โดยส่วนใหญ่แล้วเจ้าหน้าที่จะไม่เดินเข้าหาคนทั่วไป ถ้าไม่มีการส่งสายตาเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่จะเป็นการประจำอยู่ในดังต่าง ๆ มากกว่า บางครั้งมิจฉาชีพที่แฝงมาในเครื่องแบบตำรวจ อาจทำท่าทีขอตรวจเอกสารประจำตัวในการเดินทาง หรือทำท่าตรวจกระเป๋า ก่อนที่จะชิงทรัพย์แล้วหนีหายไปก็ได้ ทางที่ดีหากเป็นการที่คุณเดินทางไปต่างสถานที่ พยายามสังเกตเจ้าหน้าที่ หรือเช็กข้อหาที่ผิดพลาดให้ชัดเจนจะปลอดภัยที่สุด
กลโกงมิจฉาชีพ : ตั๋วปลอม ตั๋วราคาถูก
การบินไปต่างประเทศเพื่อดูคอนเสิร์ต กลายเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่หลายคนนิยมทำ บางครั้งการดีลบัตรตั้งแต่ก่อนเดินทาง อาจเกิดเหตุที่ทำให้ไม่ได้เข้าดู จนต้องอาศัยการหาบัตรหรือตั๋วปลอมที่หน้างาน จนบางครั้งอาจเจอมิจฉาชีพที่ขายตั๋วราคาถูกจนน่ากลัว ซึ่งโดยเฉพาะบัตรคอนเสิร์ตอาจเป็นการนำบัตรแจก หรือบัตรห้ามจำหน่ายมาขาย สุดท้ายแล้วบัตรหรือตั๋วดังกล่าว กลับเป็นของปลอมหรือโดยขายซ้ำ ๆ จนไม่สามารถใช้งานได้ และต้องเสียความรู้สึกเพราะไม่ได้ดูคอนเสิร์ตก็เป็นได้
การท่องเที่ยวแต่ละครั้งใช้ว่าจะมีความสุขเสมอไป อย่างที่เห็นด้านบนว่า กลโกงมิจฉาชีพ ที่ได้รวบรวมมานั้น บางเหตุการณ์ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และถูกนำมาเป็นอุทาหรณ์หลายต่อหลายครั้ง ยังมีกลโกงอีกหลายอย่างที่มีผู้ประสบพบเจอ ทั้งนี้เป็นการรวบรวมเคสตัวอย่าง เพื่อเป็นหนึ่งในการเช็กลิสต์ให้ระวังตัวทุกครั้ง เมื่อเดินทางไปเที่ยวในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ!