Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
กลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ รวมเทคนิคทั้งเก่าและใหม่ ที่ควรต้องรู้ให้ทัน!

กลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ รวมเทคนิคทั้งเก่าและใหม่ ที่ควรต้องรู้ให้ทัน!

22 ส.ค. 67
13:48 น.
|
555
แชร์

18 กลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ รวมเทคนิคการหลอกสุดแสบผ่านทางโทรศัพท์ มีทั้งการโทร ทั้งการแชต ควต้องรู้ไว้ไม่ให้เสียท่าและทรัพย์สิน!

กลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดล้วนเป็นการหลอกที่เหนือชั้นเชิงขึ้นเรื่อย ๆ มีทั้งคนที่รู้และคนไม่รู้ และเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นมิจฉาชีพ ย่อมมีเทคนิคที่เปลี่ยนไปและอัปเดตขึ้นเป็นธรรมดา จากการโทรเข้าเบอร์โทรศัพท์ ออกอุบายให้โอนเงิน ก็พัฒนามาส่งข้อความเพื่อหลอกให้คลิกลิงก์ จนนำไปสู่การหลอกต่อในแอปพลิเคชันต่าง ๆ และเพื่อเป็นการไม่ตกเป็นเหยื่อในการเสียทรัพย์สิน

วันนี้ Amarin Online จะพาไปดู 18 กลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ ที่ปัจจุบันยังคงมีอยู่และยังกำจัดไม่ได้ ทำได้แค่ต้องระวังให้ไม่เสียรู้ หากพร้อมแล้วไปดูได้เลย!

 

กลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ รู้เท่าทันห่างไกลการเสียเงิน

หลอกขายสินค้าออนไลน์
ผู้เสียหายอาจไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา สินค้าที่ได้รับเป็นของปลอม หรือของเลียนแบบ

หลอกให้ทำงานเสริมผ่านออนไลน์
ผู้เสียหายจะถูกชักชวนให้ทำงานออนไลน์ในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง โดยแอบอ้างแอปพลิเคชัน หรือช่องทางที่น่าเชื่อถือ เช่น TikTok, Facebook , YouTube, Twitter, Shopee, Lazada โดยเป็นการหลอกให้กดไลก์ กดแชร์ เพิ่มยอดวิว รับออเดอร์ ทำสต็อกสินค้า สุดท้ายหลอกเอาเงินประกัน หรืออาจใช้ผลตอบแทนที่สูงเพื่อให้เหยื่อร่วมลงทุน

pic10

 

หลอกเงินกู้ออนไลน์
ผู้เสียหายอาจถูกหลอกล่อได้ 2 กรณีใหญ่ ๆ เช่น หลอกให้กู้เงินทิพย์ โดยเป็นการหลอกเอาข้อมูล ไม่ได้เงินจริง ออกอุบายให้เหยื่อโอนเงินเพิ่ม หรือ หลอกให้กู้เงินแต่เก็บดอกโหด เป็นการโฆษณาชวนเชื่อว่ากู้โดยไม่มีหลักประกัน หลอกเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์ เพื่อตามทวงหนี้ดอกเบี้ยโหด ทั้งกับเหยื่อและคนใกล้ชิด

หลอกข่มขู่ให้กลัว หลอกเป็นคอลเซ็นเตอร์ (Call Center)
ผู้เสียหายอาจได้รับสายโทรศัพท์ โดยแจ้งว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย พัสดุผิดกฎหมาย หรือหลอกอายัดบัญชีธนาคาร ก่อนที่จะส่งต่อเป็นขบวนการให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจปลอม พร้อมข่มขู่เรื่องกฎหมายและออกอุบายให้โอนเงิน

หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ
โดยส่วนใหญ่แล้ว มิจฉาชีพที่หลอกด้วยวิธีนี้ มักอ้างตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจที่ดูยากแต่ให้ผลตอบแทนสูง พร้อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดูน่าเชื่อถือ รวมไปถึงปลุกเร้าด้วยคำขวัญหรือสร้างแรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่ เช่น ลงทุนธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจพลังงาน หลอกในลงทุนทองคำ หรือเงินดิจิทัล Forex รวมไปถึงตลาดหลักทรัพย?ต่างชาติ และเกมออนไลน์

หลอกให้รักแล้วลงทุน
ส่วนใหญ่แล้วผู้เสียหายมักตกเป็นเหยื่อจากแอปหาคู่ โดยมิจฉาชีพมักใช้โปรไฟล์ของคนหน้าตาดีเข้ามาตีสนิท อาจทำความรู้จักในช่วงเวลาไม่นาน ก่อนที่จะออกอุบายขอช่องทางการติดต่ออื่น เพื่อลดความอันตรายที่ป้องกันขั้นแรกจากแอปหาคู่ โดยส่วนใหญ่มักใช้วิธีหลอกให้ลงทุนผ่านแอปพลิเคชันหรือโปรแกรมปลอม เป็นการใชิวธิการคล้ายกับการหลอกทำงานเสริม แต่ใช้วิธีเข้าหาแบบคนรักแล้วค่อยหลอก

pic8

 

หลอกให้รักแล้วโอนเงิน หลอกให้รักก่อนยืมเงิน
ขั้นตอนนี้คล้ายกับการหลอกให้รักแล้วลงทุน แต่เป็นการอาศัยความเสน่หาอย่างเต็มรูปแบบ โดยส่วนใหญเหยื่อมักหลงรักโปรไฟล์ปลอม ที่เป็นบุคคลาหน้าตาดี ก่อนทำความรู้จักผ่านช่องทางที่ตามตัวได้ยาก มาตีสนิทหลอกให้รัก ทำทีจะส่งทรัพย์สินหรือให้ของ แต่ลวงเอาเงินค่าธรรมเนียม หรือหลอกขอยืมเงินเพราะฉุกเฉิน โดยอ้างว่าจะคืนหลายเท่าตัว หรืออาจอ้างความสัมพันธ์เพื่อขอเงินได้อย่างแนบเนียน

หลอกแฮกโปรไฟล์ แอบอ้างยืมเงิน
เป็นวิธีการโดนหลอกที่เจอได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะโปรไฟล์เฟซบุ๊ก ไลน์ หรืออินสตาแกรม เหยื่อส่วนใหญ่มักถูกแฮกเข้าบัญชีส่วนตัว ก่อนจะใช้วิธีสุ่มทักข้อความจากเพื่อนหรือคนสนิทของเจ้าของบัญชีตัวจริง หากหลงเชื่อและโอนเงินให้ จากนั้นจะถูกบล็อกทันที

หลอกให้เข้าแชร์ลูกโซ่
เป็นการหลอกให้ทำงาร่วมด้วย มีการเสียค่าบริการแรกเข้า และต้องหาคนเข้ามาร่วมงานด้วยเป็นเครือข่าย เป็นการหลอกให้ลงทุนในธุรกิจที่เป็นไปได้ยาก อาทิ การขายอาหารเสริม อาหารชูกำลัง หรือยาควบคุมน้ำหนัก และเน้นการสร้างรายได้จากการเพิ่มสมาชิก พร้อมกับมีการกดดันให้หาเงินไปจ่ายเรื่อย ๆ โดยอ้างว่าเป็นการท็อปยกระดับเพื่อค่าตอบแทนที่สูงกว่าเดิม

หลอกให้เล่นพนันออนไลน์
โดยส่วนใหญ่แล้วการหลอกให้เล่นพนันออนไลน์ มักใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือผ่านการโปรโมทของอินฟลูเอนเซอร์บางเจ้า โดยใช้การหว่านล้อมหลายอย่างร่วมกัน อาทิ ให้ค่าน้ำมันตอบแทน ยอดลงทุนน้อยได้คืนเยอะ แจกสูตรการันตีผลตอบแทน

หลอกติดตั้งแอปเพื่อดูดข้อมูล
โดยส่วนใหญ่แล้ว มิจฉาชีพมักจะมาในรูปแบบการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ออกอุบายให้ดาวน์โหลดโปรแกรมที่ควบคุมหน้าจอจากระยะไกล อาจเป็นการส่งลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันผ่านทางข้อความ เมื่อติดตั้งไปแล้วจะถูกขโมยข้อมูลเพื่อใช้ดูดเงิน

หลอกให้โอนเงินผ่าน QR CODE
มิจฉาชีพมักใช้วิธีออกอุบายอ้างว่าจะทำการส่งสินค้าคืน ก่อนที่จะส่งคิวอาร์โค้ด QR CODE มาให้เพื่อหลอกให้โอนเงินไปยังบัญชีมิจฉาชีพ บางกรณีอาจมีการสวมลิงก์เพื่อให้กรอกข้อมูลธนาคาร อาทิ เลขบัญชี รหัสยืนยันบัญชีธนาคาร เพื่อสวมรอยในการทำธุรกรรมทางการเงิน

หลอกฉ้อโกงรูปแบบอื่น
บางครั้งมิจฉาชีพก็หลอกในความดีใจหรือความไม่รู้ซ้ำซ้อนหลายครั้ง เช่น หลอกด้วยเรื่องพิเศษเพื่อให้โอนเงินให้ อย่างการแอบอ้างแจกโปรโมชันได้ หรือการแจ้งได้รับสิทธิพิเศษ หากตกลงจะต้องโอนเงินก่อนถึงจะได้รับ หรือแม้กระทั่งหลอกเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร ติดต่อมาเพื่อส่งลิงก์ปลอม เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลธนาคาร

pic9

หลอกไปทำงานต่างประเทศ
บางครั้งมิจฉาชีพก็มาในแง่ของการทำงาน โดยเป็นการหลอกด้วยโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยการชวนไปทำงานที่ต่างประเทศ เปิดช่องทางช่วยเหลือเพื่อให้ออกนอกประเทศไปเป็นผีน้อย บังคับหรือกักขังให้ทำงานผิดกฎหมายอย่างคอลเซ็นเตอร์ ใช้แรงงานเป็นทาส ฯลฯ

หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย
มิจฉาชีพบางคนอาจเป็นอาชีพที่คิดไม่ถึงอย่างตากล้องก็ได้ บางครั้งอาจมีการชักชวนให้ไปถ่ายรูปเล่น ไม่ว่าจะเป็นในสตูดิโอหรือนอกสตูดิโอ แต่จะฉวยโอกาสเพื่อถ่ายรูปที่ดูอนาจาร เพื่อใช้บังคบเรียกเก็บเงินจากเหยื่อ ผู้เสียหายบางรายที่ไม่ทันระวัง อาจถูกแบล็กเมลได้จากความไว้ใจนี้

หลอกให้เป็นบัญชีม้า
บัญชีม้ากลายเป็นปัญหาหลักในการตามจับมิจฉาชีพ เพราะบางผู้เสียหายบางราย อาจโดนแอบอ้างเอาบัญชีไปจริง แต่บางรายก็รับจ้างเปิดบัญชีให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร หรือเปิดบัญชีม้าเพื่อรับค่าตอบแทน ถือเป็นการร่วมกันกระทำผิด ฐานฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงิน

หลอกให้แชร์ข่าวปลอม
ส่วนใหญ่แล้วข่าวปลอมที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้แชร์ หรือส่งต่อ มักมาจากแหล่งข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ข้อความที่ส่งต่อผ่านทางไลน์ หรือเฟซบุ๊ก โดยเป็นข้อความที่มีจุดประสงค์ในการสร้างความตื่นตระหนก ก่อนที่จะหลอกซ้ำอีกครั้งผ่านการติดต่อของผู้ที่หลงเชื่อ

หลอกเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ RANSOMWARE
RANSOMWARE หรือการใช้ไวรัสเรียกค่าไถ่ โดยเป็นการใช้ช่องว่างของการใช้คอมพิวเตอร์ อาจมีการแฝงไวรัสเข้ามาระหว่างการดาวน์โหลดไฟล์ต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต โดยมิจฉาชีพจะทำการล็อกรหัส ไฟล์ต่าง ๆ ในคอมพิวเตอร์ ก่อนที่จะส่งข้อความมาเพื่อเรียกค่าไถ่และปลดล็อกให้หลังจากนั้น แต่บางครั้งอาจโดนหลอกหลายต่อ โดยรหัสอาจเป็นของปลอมหรือใช้ได้ไม่นาน ผู้เสียหายบางรายอาจโดนเรียกค่าไถ่ไปพร้อมกับโดนล้างข้อมูลได้

pic7

 

นี่ก็เป็นกลโกงมิจฉาชีพ ที่ยังคงมีและอาจเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วัน มิจฉาชีพออนไลน์ ยังคงเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อการไม่ตกเป็นเหยื่อ การรู้เท่าทันเทคนิคหรือวิธีที่เป็นวิธีโกงของมิจ ย่อมช่วยให้ปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลดความระวัง และหมั่นตรวจทานข้อมูลให้ละเอียดก่อนการทำธุรกรรม หากต้องสงสัยว่าจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ สามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ AOC โทร 1441 พร้อมทั้งแจ้งความออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com/

 

ที่มา : PCT POLICE (immigration.go.th)

Advertisement

แชร์
กลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ รวมเทคนิคทั้งเก่าและใหม่ ที่ควรต้องรู้ให้ทัน!