ดวงตา สุขภาพร่างกายที่ควรต้องดูแล หนึ่งในประสาทสัมผัสที่ต้องถนอม

13 ก.ย. 67

ดวงตา หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของประสาทสัมผัส สุขภาพร่างกายที่ควรต้องดูแล ถ้าละเลยหรือมองข้าม อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

ดวงตา หนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัส ซึ่งเป็นอวัยวะหลักที่สำคัญของร่างกาย เพราะทำหน้าที่ในการมองเห็นต่อโลกภายนอก และจำเป็นต่อการใช้ชีวิต

แต่ดวงตามีความเปราะบาง เสียหายง่าย เสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพจากหลายปัจจัยในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการทำงาน แดด ความร้อน ฝุ่น ควัน และลม

การบำรุงสุขภาพตาเป็นสิ่งที่คนทั่วไปมักมองข้าม ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร จากการที่ไม่ได้รับการรักษาในระยะแรก นำมาสู่ความทุกข์ทั้งกายและใจ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญในการรักษาดวงตา เพื่อให้การมองเห็นที่ดีคงอยู่ตลอดไป

 pic2

 

ส่วนประกอบหลักของดวงตา

  • เยื่อตาหรือเยื่อบุตา (conjunctiva) : เป็นเนื้อเยื่อบางใสบุอยู่ด้านในของเปลือกตา และคลุมส่วนของตาขาว เว้นบริเวณตาดำหรือกระจกตาไว้ ทำหน้าที่หล่อลื่นดวงตา ด้วยการผลิตเมือกและน้ำตา ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
  • กระจกตาหรือตาดำ (cornea) : เป็นเนื้อเยื่อใสไม่มีสี มีลักษณะโค้งอยู่ด้านหน้าสุดของลูกตาก่อนถึงม่านตา ทำหน้าที่หักเหแสงร่วมกับเลนส์แก้วตา เพื่อให้เกิดการมองเห็นและปกป้องส่วนต่าง ๆ ด้านในของดวงตา
  • ม่านตาและรูม่านตา (iris) : เป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ รูปร่างกลม อยู่ด้านหลังกระจกตา และอยู่ด้านหน้าของเลนส์แก้วตา ตรงกลางมีรูม่านตา (pupil) ทำหน้าที่ควบคุมขนาดของรูม่านตา ด้วยการปรับหดและขยาย เพื่อให้แสงผ่านไปยังจอตา และเป็นตัวกำหนดสีของดวงตา
  • ส่วนตาขาว (sclera) : เป็นผนังชั้นนอกสีขาวขุ่นล้อมกระจกตาต่อไปจนถึงเส้นประสาทตาด้านหลัง ประกอบด้วยเนื้อเยื่อหลายชนิดไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยง ทำหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องเนื้อเยื่อ เป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อตาที่คอยควบคุมการเคลื่อนไหว
  • เลนส์แก้วตา (lens) : เป็นอวัยวะที่มีลักษณะนูนใสคล้ายวุ้น วางอยู่หลังม่านตา ทำหน้าที่ร่วมกับกระจกตา ในการหักเหแสงจากวัตถุไปยังจุดรวมแสงที่จอตา เพื่อให้เกิดการมองเห็น
  • จอประสาทตาหรือจอตา (retina) : เป็นส่วนประกอบของดวงตาที่อยู่บริเวณด้านในสุด มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ นับสิบชั้นที่ประกอบไปด้วยเซลล์รับภาพ ในภาวะที่จอประสาทตาปกติ แสงที่ผ่านเข้ามาจะตกกระทบที่จอตาพอดี ทำให้ภาพที่มองเห็นมีความคมชัด จอประสาทตาเป็นอวัยวะที่เมื่อเสื่อมหรือเสียหายไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนใหม่ได้
  • ขั้วประสาทตาหรือจานประสาทตา (optic disc) : มีลักษณะคล้ายท่อขนาดประมาณ 1.8 x 1.9 มิลลิเมตร อยู่บริเวณท้ายสุดของลูกตา เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นประสาทที่เชื่อมไปสู่สมอง
  • เส้นประสาทตา (optic nerve) : หรือที่รู้จักในนามเส้นประสาทสมองคู่ที่สอง เป็นเส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับภาพจากจอตา เพื่อไปแปลผลที่สมองส่วนควบคุมการมองเห็นที่อยู่บริเวณท้ายทอย
  • วุ้นตา (vitreous body) : มีลักษณะเป็นเจลใสคล้ายไข่ขาว อยู่หลังเลนส์แก้วตาและยึดติดกับจอตา เป็นทางผ่านของแสงไปสู่จอตาเพื่อให้มองเห็นภาพได้
  • กล้ามเนื้อตา (extraocular muscles) : ในดวงตาแต่ละข้างมีกล้ามเนื้อตา 6 มัดทำงานร่วมกัน เพื่อให้ลูกตาสามารถเคลื่อนไหวไปมาในช่องกระบอกตาได้

 

ถนอมสายตา เพื่อสุขภาพที่ยั่งยืน
ดวงตาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือทำงาน โดยเฉพาะคนที่ต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนตลอดเวลา อาจได้รับแสงสีฟ้า (Blue Light) ที่เป็นอันตรายต่อเลนส์ตา ซึ่งบางครั้งผู้คนมักละเลยการถนอมสายตา จนสร้างผลกระทบกล้ามเนื้อดวงตาอ่อนล้า จอประสาทเสื่อม และนำไปสู่ปัญหาภาวะค่าสายตา

การถนอมสายตา เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ช่วยให้การมองเห็นให้ มีการใช้งานที่ยืนยาว และชะลอความเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร ดวงตาเปรียบเสมือนกล้ามเนื้อที่ควรได้รับการฝึกให้มีความแข็งแรง ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมบำรุงสายตาคงสภาพอายุดวงตาได้อย่างสม่ำเสมอ

pic1

 

วิธีถนอมสายตา ที่แนะนำ

1.กะพริบตาให้ถี่ขึ้น
การกะพริบตาเป็นวิธีถนอมสายตา ที่ช่วยทำให้ดวงตามีน้ำตาหล่อเลี้ยง และปรับจูนการโฟกัสดวงตา ร่วมกับป้องกันสิ่งระคายเคืองที่มีผลกระทบในขณะทำงานหรือโฟกัสหน้าจอ อัตราการกะพริบตาโดยทั่วไปจาก 20-22 ครั้งต่อนาที แต่เพราะการทำงาน ทำให้มีการกระพริบตาลดลงเหลือเพียงประมาณ 6-8 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น ดังนั้นการกะพริบตาเป็นการถช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตาอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นคนตาแห้งง่าย อาจใช้ตัวช่วยอย่างน้ำตาเทียมร่วมด้วยได้

2.จัดวางตำแหน่งคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม
การจัดตำแหน่งคอมพิวเตอร์ เป็นวิธีถนอมสายตาไม่ให้สั้น โดยทั่วไปแล้ว ควรมีระยะห่างจากจอภาพถึง 50-70 ซม. และดวงตาควรอยู่ระนาบเดียวกับจอภาพ ในระดับสายตาที่มีระยะห่าง 5-9 นิ้ว จึงส่งผลไปยังการเลือกโต๊ะทำงาน ที่ควรเลือกระดับความสูงที่เหมาะสำหรับระยะสายตา

3.ปรับความสว่างของห้องทำงาน
ผู้ที่ต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่ควรอยุ่ใกล้กับแสงแดดมากเกินไป ควรมีม่านเพื่อลดอัตราแสงสะท้อน และการกระทบของแสงที่จะเข้าตาโดยตรง อีกทั้งควรเลี่ยงการทำงานในสถานที่ที่มีแสงสะท้อนเข้าตาเยอะจนเกินไป หากมีโหมด Night Light ควรเปิดใช้งาน การปรับแสงสว่างหน้าจอใช้โหมดดังกล่าว จะช่วยลดพลังงานแสงสีฟ้า เป็นหนึ่งในตัวช่วยเยียวยาดวงตา ที่จะทำให้การใช้สายตาไม่มากจนเกินพอดี

4.ปรับขนาดหน้าจอทำงานให้เข้าที่
บางครั้งการใช้งานคอมพิวเตอร์ อาจไม่ได้มีความเข้าใจมากพอ จึงละเลยการปรับความคมชัดของหน้าจอ (Screen resolution) ลายละเอียดของตัวภาพและตัวอักษร ควรสันทัดกับผู้ใช้ในการถนอมสายตา ไม่ควรปรับขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้เคยชินกับการดูภาพ และตัวหนังสือที่เพี้ยนเกินความเป็นจริง

 

pic3

 

5. ใช้แว่นตาให้เหมาะการใช้งาน
แว่นกรองแสงจะช่วยถนอมสายตาขณะทำงานโดยเฉพาะ เนื่องจากตัวเลนส์มีคุณสมบัติในการป้องกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งวัสดุที่ช่วยป้องกันแสงสีฟ้า สามารถทำเป็นแว่นตาได้ทุกค่าสายตา หรือคนที่สายตาปกติก็ใช้ได้เช่นกัน รวมไปถึงคนที่ทำเลสิค (Lasik) ก็สามารถใช้แว่นกรองแสง เพื่อถนอมสายตาได้

6. พักสายตาจากแสง หรือการทำงาน
ในขณะที่ใช้ชีวิตหน้าจอคอมพิวเตอร์เสมอ ควรพักสายตาเพื่อคลายความอ่อนล้ากล้ามเนื้อเป็นครั้งคราว และควรพักสายตาโดยสม่ำเสมอ ด้วยการละสายตาออก มองออกไปไกล ๆ ประมาณ 10-20 วินาที แล้วกลับมามองระยะใกล้ในระยะเวลาเดียวกัน แล้วทำสลับกันทำหลาย ๆ ครั้ง จะช่วยทำให้ความตึงเครียดบริเวณดวงตา คลายความเมื่อยล้าได้อย่างดี

 

วิธีบริหารกล้ามเนื้อตาฉบับง่าย

  1. การกรอกตาซ้าย-ขวา ใบหน้าตั้งตรง กรอกลูกตาไปทางซ้ายและขวา ไปกลับติดต่อกัน 10 ครั้ง โดยไม่หันตามทิศทางสายตา
  2. การกรอกตาขึ้น-ลง ใบหน้าตั้งตรง กรอกลูกตาไปข้างบนและกรอกลงล่าง ไปกลับติดต่อกัน 10 ครั้ง โดยไม่หันตามทิศทาง
  3. การกรอกลูกตาเฉียงขึ้น-ลง ใบหน้าตั้งตรง กรอกลูกตาเฉียงไปตามคิ้วซ้าย-ขวา จากนั้นกรอกตาทะแยงฝั่งตรงข้ามติดต่อกัน 10 ครั้ง โดยไม่หันตาม
  4. การกรอกลูกตาเป็นวงกลมแบบตามเข็ม-ทวนเข็ม ใบหน้าตั้งตรง หมุนลูกตากรอกตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกา ๆ ติดต่อกัน 10 ครั้งแบบช้า ๆ โดยไม่หันตามทิศทาง
  5. การปรับโฟกัสสายตา 3 ระดับ โดยชูนิ้วชี้ออกไปสุดแขน เลื่อนนิ้วเข้ามาให้ห่างจากใบหน้า 3 นิ้ว ทุก ๆ 10 วินาที สลับติดต่อกัน 10 ครั้ง โดยไม่เอียงและงอตัวตามนิ้ว
  6. การนวดบริเวณดวงตา ปิดตาแล้วใช้มือสองข้าง นวดบริเวณหัวคิ้วจนไปถึงหัวตา จะช่วยให้กล้ามเนื้อดวงตาผ่อนคลาย โดยควรนวดตามเข็มและทวนเข็ม สลับติดต่อกัน 10 ครั้ง

นอกจากนี้แล้ว การถนอมสายตาที่ดีที่สุดคือ การตรวจสุขภาพประจำปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการเช็กว่าดวงตามีความผิดปกติหรือไม่ มีการแทรกซ้อนของโลกใดหรือเปล่า การได้รับการตรวจสุขภาพดวงตาตั้งแต่ต้น จะทำให้สามารถวินิฉัยอาการ และนำไปสู่การรักษาได้อย่างถูกต้อง

 

ที่มา : โรงพยาบาลสมิติเวช (samitivejchinatown.com) / โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (bumrungrad.com)

advertisement

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด