น้ำท่วมกรุงเทพฯ น้ำท่วมหนัก น้ำรอการระบาย เรื่องระทมระบมสมองของคนเดินทางสัญจร ไม่ว่าจะไปเรียน ไปทำงาน บางวันอยากกลับบ้านพักผ่อน กลายเป็นติดค้างอดหลับอดนอนบนท้องถนน แค่นึกก็เครียดไมเกรนพุ่งแล้ว
ช่วงนี้คนกรุงฯ กำลังต้องเผชิญฝนกระหน่ำ วันดีคืนดีฝนนึกจะถล่มลงมาก็เล่นเอาไม่ลืมหูลืมตา เอาซะน้ำท่วมสาหัสสากรรจ์ข้ามวันข้ามคืนกันเลยทีเดียว และแน่นอนนอกจากผู้ที่โดยสารรถประจำทางจะต้องเพิ่มเติมความลำบากลำบนอีกมหาศาล บางคนตกค้าง บางคนหารถกลับบ้านไม่ได้
แต่ใช่ว่าคนที่มีรถส่วนตัวจะรอดจากวิกฤตน้ำท่วมซะที่ไหน บางคนรถดับ บางคนรถเสีย บางคนแผ่นป้ายทะเบียนหาย ปัญหามากมายที่พาปวดหัว อลเวงทุกครั้งที่ต้องขับรถลุยน้ำ
• สังเกตความลึกของน้ำ
อย่าเด็ดขาด กับการขับรถสุ่มสี่สุ่มห้าลุยน้ำดุ่มๆ ไปข้างหน้า ให้ลองสังเกตสิ่งรอบๆ ตัวเพื่อประเมินความลึกของระดับน้ำ อาจดูจากขอบทางเท้า หรือรถคันหน้าที่วิ่งนำ ว่าน้ำสูงระดับไหน หากสูงมากเกินไปจนน่าหวาดเสียว ก็แนะนำว่าอย่าไปต่อ ถอยดีกว่า
• ลดความเร็วรถ
เมื่อถูกรถรายล้อมด้วยน้ำรอการระบาย บางคนคิดว่าการวิ่งให้เร็วน่าจะทำให้น้ำไม่เข้าภายในตัวรถ แต่จะบอกว่า ผิดอย่างหนัก! อย่าหาทำ! สิ่งที่ควรทำคือลดความเร็วรถให้ต่ำที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดคลื่นที่อาจซัดเข้าไปโดนจุดสำคัญของรถเรา และการวิ่งด้วยความเร็วในน้ำอาจทำให้รถเสียหลักและเกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันตามมาก็เป็นได้
• ปิดแอร์
หลายคนมองข้ามจุดนี้ เพราะลืมคิดไปว่าการทำงานของแอร์มีการใช้พัดลมหน้าเครื่องเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วลองนึกสภาพใบพัดที่ต้องหมุนในน้ำดูซิ มันน่าจะดูไม่จืดเลยเชียว หนำซ้ำถ้าโชคร้ายใบพัดเจ้ากรรมอาจตีน้ำเข้าไปในจุดหลักของเครื่องยนต์ พาความปนปี่ใหญ่หลวงมาสู่เราโดยไม่ทันได้ตั้งตัว
• วิ่งช้าๆ ใช้เกียร์ต่ำ
การใช้ขับรถ ควรพยายามใช้ความเร็วไม่สูง ใช้เกียร์ต่ำ เพื่อให้รอบเครื่องยนต์อยู่ระดับ 1500-2000 รอบ/นาที หากเครื่องยนต์รอบสูงเกินไป ขั้นตอนในการดูดอากาศเข้าห้องเครื่องจะมีแรงดูดมากยิ่งขึ้น และนั่นมันอาจดูดน้ำเข้าไปด้วยนั่นเอง พึงระวังให้ดี
• ใช้รถคันหน้าเฝ้าระวัง
คอยสังเกตรถคันหน้าที่วิ่งนำเรา จะทำให้พอรู้ลักษณะเส้นทางที่เรากำลังจะเจอได้ ที่สำคัญต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 50-60 เมตรเป็นอย่างน้อย เพื่อป้องกันเหตุการกะทันหันที่อาจเกิดแบบไม่ตั้งตัว
• เลี่ยงการขับรถลุยน้ำในสถานที่ที่ไม่รู้จัก
ข้อนี้เป็นอันตรายอย่างมาก เพราะเราไม่สามารถคาดเดาสิ่งรอบตัวใดๆ ได้เลย หากเราไม่คุ้นเคยสถานที่ โดยเฉพาะหากน้ำท่วมยิ่งทำให้ไม่สามารถมองเห็นพิื้นผิวถนน หลุมบ่อ ฝาท่อ หรือร่องน้ำ ต้องบอกว่าอย่างเสี่ยงเป็นดีที่สุด
• หากรถดับ ตั้งสติ อย่าสตาร์ท
การสตาร์ทรถในขณะที่เครื่องดับระหว่างลุยน้ำ ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะยิ่งทำให้เครื่องยนต์เสียหายหนักมากขึ้น สิ่งควรทำคือหาวิธีเข็นรถเพื่ออยู่ในจุดปลอดภัย โทรหารถยกมาเคลื่อนย้ายเพื่อไปทำการตรวจเช็กและซ่อมแซมต่อไป หรือโทรสายด่วนที่ให้ความช่วยเหลือกรณีรถเสียก็เป็นอีกวิธีที่แนะนำ
1137 วิทยุ จส.100 (ประสานขอความช่วยเหลือ)
1644 สวพ. FM 91(ประสานขอความช่วยเหลือ)
1146 กรมทางหลวงชนบท
1197 ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจรตำรวจ
1356 ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม
1584 กรมการขนส่งทางบก
1586 สายด่วนกรมทางหลวง
1543 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
1677 ศูนย์วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน
• เมื่อลุยพ้นจากน้ำท่วม สิ่งแรกที่ต้องทำให้เป็นนิสัย คือการเหยียบเบรกย้ำๆ ในขณะที่ยังใช้ความเร็วต่ำ เพื่อทำการไล่น้ำออกจากระบบเบรกให้หมดเสียก่อน เพราะหากไม่ทำแบบนี้แล้วการทำงานของระบบเบรกหลังจากมันเพิ่งโผล่พ้นน้ำมาหมาด แทบจะหยุดรถไม่อยู่เลยทีเดียว
• อย่าดับรถทันทีหลังพ้นจากน้ำ ควรให้เครื่องยนต์ติดในขณะรอบเดินเบาสักพัก เพื่อให้กำจัดน้ำที่อาจจะยังค้างในระบบออกไปให้ได้มากที่สุด ป้องกันความเสียหายต่อระบบไฟและเครื่องยนต์ ที่สำคัญหากลุยน้ำที่สูงมากควรนำรถเข้าตรวจสอบโดยละเอียดอีกรอบ โดยปกติรถเก๋งไม่ควรลุยน้ำลึกเกิน 30 ซม. หากเป็นรถกระบะไม่ลึกไม่เกิน 50-60 ซม.
อย่างไรก็ตาม การขับรถลุยน้ำไม่ใช่สิ่งน่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าเราทำอย่างถูกวิธีและดูแลรถอย่างถูกต้อง แม้กระทั่งรถพลังงานไฟฟ้าเองที่กำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย ก็สามารถขับลุยน้ำได้เช่นเดียวกัน แต่อาจมีขึ้นตอนที่แตกต่างกันออกไปเล็กน้อย ถ้าหากเราทำตามขึ้นตอนอย่างระมัดระวังก็จะสามารถพารถคู่ใจกลับถึงบ้านได้อย่างปลอดภัยแน่นอน ขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนโชคดี และเดินทางด้วยความไม่ประมาทครับ