Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
F80 ซูเปอร์คาร์คันล่าสุดจาก Ferrari พละกำลัง 1,200 แรงม้า V6-Hybrid

F80 ซูเปอร์คาร์คันล่าสุดจาก Ferrari พละกำลัง 1,200 แรงม้า V6-Hybrid

21 พ.ย. 67
17:00 น.
|
69
แชร์

Ferrari เผยโฉม F80 เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของซูเปอร์คาร์ระดับตำนานอย่างม้าลำพองที่ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 799 คัน มีโควต้าจำหน่ายในประเทศไทย 4 คันที่ถูกจับจองเป็นเจ้าของหมดเรียบร้อย ด้วยสนนราคา 3.5 ล้านยูโร บวกภาษีเมืองไทยจบที่ราคาคาดการณ์ 300 กว่าล้านบาท เผยโฉมคันจริงในงาน Universo Ferrari ที่ได้รวบรวมเรื่องราว Ferrari กับนิทรรศการในรูปแบบ Ferrari Immersive Exhibition ครั้งแรกของโลก รวมรถยนต์ Ferrari ในทุกแบบ 20 คันที่ได้บินตรงมาจาก Ferrari S.p.A ประเทศอิตาลี และ Ferrari 12Cilindri จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประเทศไทย เปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมระหว่างวันที่ 21 ถึง 25 พฤศจิกายน นี้ ณ UOB Live, Emsphere ประเทศไทย

Ferrari F80

F80 ซูเปอร์คาร์คันล่าสุด จัดอยู่ในรถกลุ่มเดียวกับยนตรกรรมระดับตำนานอย่างเช่น GTO, F40 และ LaFerrari จากการรวมเอาสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่แบรนด์จากมาราเนลโลมีอยู่ มารวมไว้ในรถคันนี้ ทั้งในด้านเทคโนโลยีและสมรรถนะ เป็นเครื่องยนต์สันดาปภายในที่มีวิศกรรมอัดแน่นไปด้วยความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งรวมไปถึงเทคโนโลยีไฮบริดเจเนอเรชั่นล่าสุดสำหรับระบบขับเคลื่อน เพื่อให้ได้มาซึ่งแรงม้าและแรงบิด ทุกกระเบียดนิ้วของโครงสร้างออกแบบมาเพื่อสมรรถนะสูงสุด ตั้งแต่แชสซีส์คาร์บอนไฟเบอร์และแอโรไดนามิกขั้นสูงแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนใน Road Car ไปจนถึงช่วงล่างแบบแอคทีฟรุ่นใหม่ที่ช่วยให้ผู้ขับสามารถรีดสมรรถนะของรถได้สูงสุดเมื่ออยู่ในสนามแข่ง

ตัวถังภายนอก

F80 คือผลงานจากการศึกษาการออกแบบที่ส่งให้ทีม Ferrari Styling Centre นำทัพโดย Flavio Manzoni สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับเอกลักษณ์การออกแบบของแบรนด์ ออกแบบให้มีหน้าตัดทำมุมเหมือนปีกที่ยกสูงขึ้น ร่วมด้วยมุมล่างทั้งสองข้างที่วางอยู่บนล้ออย่างมั่นคง เมื่อมองจากด้านข้างจะเห็นส่วนท้ายรถที่โค้งมน ขับให้ปีกหลังดูแข็งแกร่งกำยำยิ่งขึ้น ส่วนหน้ารถออกแบบโดยใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ โดยส่วนปลายของซุ้มล้อปิดท้ายด้วยแผงแนวตั้งที่ตระหง่านสูงเหนือประตู เพื่อเป็นการหวนรำลึกถึงดีไซน์ของ F40

ตัวถังส่วนห้องโดยสารที่ลอยตัวอยู่เหนือบอดี้รถ มีโครงสร้างทรงฟองอากาศที่ให้วอลลุ่มอันเหนือความคาดหมาย เป็นผลงานจากการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและสัดส่วนอย่างพิถีพิถัน ด้วยรูปทรงที่เตี้ยกว่าห้องโดยสารของ LaFerrari ช่วยหลอกตาให้ดูไม่รู้ว่ามีขนาดใหญ่แค่ไหน ด้วยการออกแบบให้ไหล่ของรถกว้างขึ้นเพื่อทำให้ห้องโดยสารดูกะทัดรัดยิ่งขึ้น

เหมือนกับเช่นเดียวกับรถเจเนอเรชั่นล่าสุดรุ่นอื่นๆ ของ Ferrari ความแตกต่างระหว่างส่วนบนที่เป็นสีตัวถังและส่วนล่างที่เป็นคาร์บอนไฟเบอร์เคลือบแลคเกอร์ใสช่วยเน้นดีไซน์ของรถให้โดดเด่นยิ่งขึ้น เผยให้เห็นด้านที่เป็นเทคนิคมากขึ้นในทุกครั้งที่ได้มอง ทีมออกแบบต้องการที่จะหลีกเลี่ยงภาพลักษณ์ที่มองดูเหมือน Anthropomorphic บริเวณส่วนหน้าของ F80 ชุด

ไฟหน้าจึงถูกซ่อนไว้ด้วยแผ่นบังซึ่งเป็นแถบสีดำที่ให้ทั้งแอโรไดนามิกและเป็นไฟส่องสว่างไปพร้อมๆ กัน ส่งให้ F80 มีรูปโฉมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ส่วนท้ายของรถที่สั้นกะทัดรัด ให้มุมมองที่แตกต่างกันสองรูปแบบขึ้นอยู่กับการใช้งาน ด้วยปีกหลังที่สามารถเก็บซ่อนและยกตัวขึ้นได้ ไฟท้ายติดตั้งอยู่ในโครงสร้างแบบสองชั้นซึ่งประกอบไปด้วยแผงไฟท้ายและสปอยเลอร์ สร้างเอฟเฟคท์แบบประกบที่ส่งให้มุมมองด้านท้ายดูโฉบเฉี่ยวสุดขั้วไม่ว่าปีกหลังจะเก็บหรือยกตัวขึ้น

เมื่อสปอยเลอร์หลังยกตัวขึ้น ทำให้รถดูมีพลังและคล่องตัวมากกว่าเดิม โดยความแตกต่างของสมดุลทางสายตาระหว่างโครงสร้างทั้งสองเผยให้เห็นอีกด้านหนึ่งของตัวรถ ฟังก์ชั่นต่างๆ ที่จำเป็นของรถ ได้รับการแก้ไขด้วยการออกแบบเพื่อสร้างการสื่อสารต่อกันที่สมบูรณ์แบบระหว่างสมรรถนะและรูปแบบ คุณสมบัติของฟังก์ชั่นเหล่านี้มีบทบาทสำคัญมากในการกำหนดลักษณะรูปลักษณ์ เช่น ช่องแบบ NACA ที่ส่งกระแสลมไปยังช่องรับอากาศของเครื่องยนต์และหม้อน้ำด้านข้าง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ที่ทั้งโดดเด่นและใช้งานได้จริง ทั้งยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ด้านการออกแบบที่แปลกใหม่ที่สุดของด้านข้างอีกด้วย

อีกฟังก์ชั่นซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีอัตลักษณ์สำคัญอย่างมากคือครีบระบายอากาศที่ส่วนหลังของห้องเครื่อง ซึ่งมีช่องทั้งหมด 6 ช่อง สำหรับแต่ละกระบอกสูบของเครื่องยนต์สันดาปภายใน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่คาดคิดระหว่างเส้นสายของรูปทรงเรขาคณิตและพื้นผิวเชิงประติมากรรมของตัวถังรถ

ห้องโดยสาร

สัดส่วนของห้องโดยสารเกิดขึ้นจากการใช้ค็อกพิตที่นำแรงบันดาลใจมาจากรถแข่งแบบที่นั่งเดี่ยว ภาพลักษณ์ที่ดูคล้ายกับรถแข่ง Formula 1 แต่มีหลังคาปิด 1+1 ที่นั่ง ค็อกพิตที่มีผู้ขับขี่เป็นศูนย์กลางด้วยรูปทรงที่โอบล้อมเข้าหาแผงควบคุมและมาตรวัด นอกจากนั้น แผงควบคุมยังจัดวางไว้ในแนวเดียวกับผู้ขับ ทำให้เกิดเอฟเฟกต์คล้ายรังไหมล้อมรอบตัวผู้ขับขี่เอาไว้ ในขณะที่การออกแบบก็เป็นไปตามหลักสรีรศาสตร์อย่างสมบูรณ์แบบและสะดวกสบาย เบาะผู้โดยสารแฝงตัวกลมกลืนเข้ากับการตกแต่งของห้องโดยสารได้อย่างลงตัวจนแทบจะมองไม่เห็น จากการใช้ความเชี่ยวชาญด้านการสร้างความแตกต่างด้วยสีและวัสดุที่นำมาใช้กับเบาะผู้ขับและส่วนตกแต่งที่เหลือของห้องโดยสาร

ตำแหน่งเบาะของผู้โดยสารทั้ง 2 คน ถูกปรับให้เยื้องกันในแนวยาวทำให้สามารถปรับเบาะผู้โดยสารให้ถอยหลังได้มากกว่าเบาะผู้ขับ ภายในห้องโดยสารจึงมีพื้นที่กะทัดรัดโดยไม่กระทบต่อหลักสรีรศาสตร์และสัมผัสแห่งความสะดวกสบาย วิธีนี้ทำให้ดีไซเนอร์สามารถออกแบบห้องโดยสารให้เหมาะสมและลดหน้าตัดด้านหน้าของรถได้

นอกจากนั้น F80 ยังมีพวงมาลัยแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับรถยนต์รุ่นนี้ และจะถูกนำไปใช้ในม้าลำพองแบบ Road Car รุ่นอื่นๆ ต่อไปในอนาคต วงพวงมาลัยมีขนาดเล็กกว่ารุ่นอื่นเล็กน้อย มีส่วนบนและล่างที่ตัดตรง ช่วยให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้นและเน้นความรู้สึกสปอร์ตเมื่อขับขี่ ด้านข้างของพวงมาลัยได้รับการปรับให้จับได้แน่นขึ้นไม่ว่าจะสวมถุงมือหรือไม่ก็ตาม ปุ่มควบคุมบนก้านพวงมาลัยด้านขวาและซ้ายถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง แทนที่เลย์เอาต์แบบดิจิทัลระบบสัมผัสทั้งหมดที่ Ferrari ใช้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปุ่มกด (แบบดั้งเดิม) ใช้งานง่ายกว่าและสามารถระบุว่าเป็นปุ่มอะไรได้ทันทีด้วยการสัมผัส

เครื่องยนต์

เครื่องยนต์สันดาปภายใน

ขุมพลังความจุ 3.0 ลิตร V6 ทำมุม 120 องศา รหัส F163CF ของ F80 คือที่สุดแห่งความสมบูรณ์แบบของเครื่องยนต์ 6 สูบ จาก Ferrari สร้างกำลังสูงสุดได้อย่างน่าทึ่งที่ 900 แรงม้า จนก้าวขึ้นมาเป็นเครื่องยนต์ที่มีอัตราส่วนแรงม้าต่อลิตรสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของ Ferrari (300 แรงม้า/ลิตร) ในขณะที่มอเตอร์ไฟฟ้าที่ล้อหน้าและมอเตอร์ไฟฟ้าชุดหลัง (MGU-K) ของระบบไฮบริด ให้กำลังเสริมได้อีก 300 แรงม้า

มีการนำเทคโนโลยีจากฟอร์มูลาวันมาใช้ ซึ่ง F80 สืบทอดทั้งรูปแบบของระบบ MGU-K (ที่พัฒนาเพิ่มเติมจากโรงงานเดียวกับที่สร้างมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งใช้อยู่ในรถแข่งฟอร์มูลาวันของ Ferrari) และระบบ MGU-Hs (ซึ่งสร้างกำลังจากพลังงานจลน์ที่ได้จากการหมุนของเทอร์ไบน์ซึ่งเกิดจากพลังงานความร้อนของก๊าซไอเสีย) ร่วมด้วยชุดเทอร์โบไฟฟ้า (e-turbo) อีกด้วย

ปล่อยแรงบิดให้เหมาะสมในทุกๆ เกียร์ เป็นครั้งแรกของ Road Car จาก Ferrari โดยโปรเจคท์นี้พุ่งเป้าไปยังสภาพการทำงาน (ของเครื่องยนต์) เมื่อขับขี่บนถนนจริงและการบริหารจัดการระบบ e-turbo เนื่องจากขีดจำกัดสูงสุดของการชิงจุดระเบิดและกำลังอัดจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าจะวัดจากค่าแบบไดนามิกหรือค่าคงที่ ผลจากการค้นคว้าวิจัยเรื่องการปรับแต่งแรงบิดให้กับแต่ละเกียร์ ช่วยให้เครื่องยนต์ตอบสนองได้ดีต่อเนื่อง (ไม่มีอาการ Turbo Lag) ไม่ต่างจากเครื่องยนต์แบบไม่มีระบบอัดอากาศ ในทุกสภาพการทำงาน

e-turbo ซึ่งมีมอเตอร์ไฟฟ้าติดตั้งไว้ตามแนวแกน คั่นระหว่างตัวเรือนของเทอร์ไบน์และคอมเพรสเซอร์ เปิดทางให้วิศวกรสามารถปรับอากาศเข้าได้อย่างลงตัวที่สุด เพื่อสร้างกำลังสูงสุดที่ความเร็วรอบกลางถึงสูงของเครื่องยนต์ โดยไม่มีอาการ Turbo Lag ที่รอบต่ำ อย่างที่มักเกิดขึ้นกับเครื่องยนต์เทอร์โบทั่วไป การใช้มอเตอร์ไฟฟ้าช่วยให้สามารถกำหนดจังหวะการทำงานของ e-turbo เพื่อขจัดการรอรอบของเทอร์โบและให้การตอบสนองที่รวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น

หัวฉีดแรงดัน 350 บาร์ของระบบ GDI ติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางของห้องเผาไหม้เพื่อการผสมเชื้อเพลิงและอากาศที่ดี ร่วมด้วยการใช้วิธีฉีดน้ำมันแบบหลายครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมที่สุดในขณะที่มีอัตราการคายมลพิษต่ำ โปรไฟล์ของแคมชาฟต์ทั้งฝั่งไอดีและไอเสียได้รับการปรับปรุงใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลและยังส่งให้เครื่องยนต์ทำงานได้ถึง 9,000 รอบ/นาที ก่อนตัดการทำงานที่ 9,200 รอบ/นาที

ท่อทางเดินไอดีและไอเสียถูกขัดเงาเพื่อประสิทธิภาพการไหลของอากาศที่ดียิ่งขึ้น โดยฝั่งไอดีได้รับการออกแบบทางเดินให้สั้นลงเพื่อลดแรงต้านและลดความร้อนให้กับส่วนผสมของอากาศขณะไหลผ่าน ทั้งยังช่วยเพิ่มการหมุนวนในห้องเผาไหม้อีกด้วย ระบบทางเดินไอเสียแบบ 3 ชุด ให้ประสิทธิภาพตรงตามข้อกำหนดด้านมลพิษในปัจจุบัน (Euro 6E-bis) ทว่าสามารถรองรับมาตรฐานมลพิษใหม่ๆ ในอนาคตได้อีกด้วย

ท่อร่วมไอเสีย Inconel© ออกแบบขึ้นเพื่อลดการสูญเสียแรงดันและปรับแต่งให้ได้เสียงคำรามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของขุมพลัง Ferrari V6 เพลาข้อเหวี่ยงกลึงจากเหล็กหล่อขึ้นรูปและใช้จุดหมุนข้อเหวี่ยงแบบขึ้นรูปโดยกรรมวิธีฟอร์จด้วยความร้อน ส่วนเสื้อสูบทำมุม 120 องศา ลำดับการจุดระเบิดแบบ 1-6-3-4-2-5 ส่งให้ F80 มีเสียงคำรามตามแบบฉบับ Ferrari ขนานแท้ และเพื่อการลดน้ำหนัก จึงใช้แขนข้อเหวี่ยงและตัวถ่วงสมดุลข้อเหวี่ยงที่เบากว่าเดิม

ก้านสูบและลูกสูบได้รับการพัฒนาใหม่เช่นกัน โดยก้านสูบทำจากไททาเนียมมีการออกแบบคล้ายฟันเฟืองบริเวณส่วนเชื่อมต่อระหว่างก้านและปลายข้อเหวี่ยงเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถประกบทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันได้ตรงตำแหน่งและประกอบเข้ากับประกับข้อเหวี่ยงได้อย่างแม่นยำ ลูกสูบอลูมิเนียมถูกพัฒนาใหม่เพื่อลดน้ำหนักและรับมือกับแรงอัดที่สูงขึ้น ตลอดจนความร้อนที่เกิดขึ้นในห้องเผาไหม้จากแรงบิดและพละกำลังมหาศาล ที่พิเศษคือการเคลือบสลักลูกสูบด้วย DLC (diamond-like carbon) เพื่อเพิ่มความแกร่งให้กับโลหะ นอกจากนั้น ยังเพิ่มรูส่งน้ำมันเครื่องเข้าไประหว่างสลักลูกสูบและก้านสูบเพื่อการหล่อลื่นที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

เพื่อลดจุดศูนย์ถ่วงของรถให้ต่ำลง เครื่องยนต์จึงถูกติดตั้งให้ใกล้กับใต้ท้องรถที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่งผลให้ไม่มีชิ้นส่วนใดบริเวณด้านล่างอ่างน้ำมันเครื่อง อยู่ต่ำกว่าแนวแกนกลางของเพลาข้อเหวี่ยงเกิน 100 มม. นอกจากนี้ ยังมีการเอียงเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง 1.3 องศา ตามแกน Z (แนวตั้ง) เพื่อยกชุดเกียร์ขึ้น ไม่ให้กระทบต่อประสิทธิภาพของชุดแอโรไดนามิกใต้ท้องรถ

เสื้อสูบ, อ่างน้ำมันเครื่อง, ฝาครอบไทมิ่ง และองค์ประกอบอีกมากมายได้รับการพัฒนาใหม่เพื่อลดน้ำหนักเครื่องยนต์ ร่วมด้วยการใช้สกรูไททาเนียม ผลลัพธ์ที่ได้คือน้ำหนักที่ไม่มากไปกว่าขุมพลัง V6 ของรุ่น 296 GTB ทว่าทำกำลังได้มากกว่าถึง 237 แรงม้า

ตำแหน่งการติดตั้งเครื่องยนต์และชุดเกียร์ที่ต่ำลงเกิดขึ้นได้เพราะการใช้ฟลายวีลที่มีขนาดเล็กกว่าเดิม ซึ่งคิดค้นและออกแบบขึ้นใหม่สำหรับรถรุ่นนี้โดยเฉพาะ นวัตกรรมนี้ให้ผลลัพธ์ยอดเยี่ยมจากการใช้สปริง 2 ชุด ช่วยลดความแข็งของระบบโดยรวมและช่วยกรองแรงสั่นสะเทือนที่ถูกส่งมาจากระบบส่งกำลังได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แดมเปอร์กันสะบัดถูกพัฒนาขึ้นเป็นพิเศษสำหรับเครื่องยนต์นี้เพื่อลดความสั่นสะเทือนจากการบิดตัวของระบบขับเคลื่อนและโหลดที่สูงขึ้นจากพละกำลังที่มากกว่าเดิม

ระบบขับเคลื่อนไฮบริด

มอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ใน F80 ได้รับการพัฒนา, ทดสอบ และผลิตขึ้นโดยโรงงาน Ferrari ในมาราเนลโลทั้งสิ้น เป้าหมายคือการเพิ่มสมรรถนะสูงสุดและลดน้ำหนักลง การออกแบบของมอเตอร์ทั้งหมด (2 ชุด ที่ล้อหน้า และ 1 ชุดที่ด้านหลังของรถ) ร่างขึ้นจากประสบการณ์ตรงของ Ferrari ในสนามแข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสเตเตอร์และโรเตอร์ในแม่เหล็ก Halbach (ซึ่งใช้รูปแบบที่เฉพาะเจาะจงในการจัดวางแม่เหล็กให้สร้างสนามแม่เหล็กได้แรงขึ้น) รวมทั้งปลอกแม่เหล็กทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่ใช้ในการออกแบบชุด MGU-K ของรถแข่งฟอร์มูลาวัน

โรเตอร์ใช้เทคโนโลยีชุดแม่เหล็ก Halbach เพื่อเพิ่มเส้นแรงแม่เหล็กให้หนาแน่นยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยลดน้ำหนักและแรงเฉื่อยอีกด้วย ขณะที่ปลอกแม่เหล็กคาร์บอนไฟเบอร์ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความเร็วรอบสูงสุดของมอเตอร์ขึ้นไปเป็น 30,000 รอบ/นาที สเตเตอร์แบบ Concentrated Winding (พันขดลวดแบ่งเป็นชุดๆ) ช่วยตัดน้ำหนักของทองแดงออกไปได้ ส่วนสายไฟแบบ Litz จะช่วยลดการสูญเสียกระแสไฟความถี่สูง โดยสายไฟชนิดนี้ใช้ลวดทองแดงเส้นเล็กๆ อาบด้วยฉนวน แทนการใช้สายทองแดงใหญ่เส้นเดียว ช่วยลด ‘skin effect’ (ปรากฏการณ์ที่กระแสความถี่สูงจะไหลเฉพาะบนผิวลวดตัวนำเท่านั้น หากใช้ทองแดงใหญ่เส้นเดียว) และทำให้กระแสไฟฟ้าไหลสม่ำเสมอทั่วทั้งหน้าตัดของสายไฟเพื่อลดการสูญเสียกระแสให้น้อยที่สุด ทั้งยังมีการเคลือบเรซินให้กับชิ้นส่วนเคลื่อนที่ทั้งหมดของสเตเตอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายความร้อนอีกด้วย

คอนเวอร์เตอร์ DC/DC ทำหน้าที่แปลงกระแส DC ที่แรงดันไฟฟ้าหนึ่ง ไปเป็นกระแส DC แรงดันไฟฟ้าระดับอื่น เทคโนโลยีที่สร้างสรรค์นี้ สามารถใช้ส่วนประกอบเพียงชิ้นเดียวเพื่อจัดการกับแรงดันไฟฟ้าที่แตกต่างกัน 3 แบบ คือ 800 โวลต์, 48 โวลต์ และ 12 โวลต์ ได้พร้อมกัน

ตัวแปลงไฟฟ้าของ Ferrari ใช้ไฟฟ้ากระแสตรงที่ผลิตโดยแบตเตอรี่แรงดันสูง 800 โวลต์ เพื่อสร้างไฟฟ้ากระแสตรงที่ 48 โวลต์ สำหรับจ่ายไฟให้กับช่วงล่างแบบแอ็คทีฟและระบบเทอร์โบไฟฟ้า ส่วนไฟฟ้ากระแสตรง 12 โวลต์ จ่ายให้กับหน่วยควบคุมอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ทั้งหมดในรถยนต์ ด้วยเทคโนโลยีเรโซแนนต์ที่ล้ำสมัยช่วยให้อุปกรณ์นี้สามารถแปลงกระแสไฟได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพการแปลงที่สูงถึง 98% จึงสามารถทำหน้าที่เป็นตัวสะสมไฟฟ้าได้ในทุกการใช้งานและทุกจุดประสงค์ ทั้งยังไม่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ 48 โวลต์ จึงช่วยลดน้ำหนักและทำให้เลย์เอาท์ของระบบไฟฟ้าเรียบง่ายขึ้น

ชุดขับเคลื่อนที่ล้อคู่หน้าประกอบไปด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าสองชุด, อินเวอร์เตอร์ และระบบหล่อเย็นในตัว ทั้งหมดนี้ถูกพัฒนาและผลิตขึ้นเองโดย Ferrari อุปกรณ์เหล่านี้ช่วยให้สามารถใช้ระบบแบ่งถ่ายแรงบิดที่ล้อหน้าได้ และด้วยการรวมเอาฟังก์ชั่นต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันในชุดเดียว และจัดวางกลไกการทำงานใหม่ ทำให้ตัดน้ำหนักออกไปได้ถึงราว 14 กก. เมื่อเทียบกับชุดขับเคลื่อนรุ่นก่อนหน้านี้ ทำให้น้ำหนักรวมเพียง 61.5 กก. เท่านั้น เป้าหมายหลักคือการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงกลจึงเลือกใช้น้ำมันเครื่องความหนืดต่ำ (Shell E6+) และระบบหล่อลื่นแบบ Dry Sump ที่ใช้ถังเก็บน้ำมันเครื่องติดตั้งรวมเข้ากับเพลาช่วยลดการสูญเสียกำลังเชิงกลลงได้ถึง 20% ส่วนการใช้เฟืองแบบครอบคลุมหลายอัตราทด (HCR - High Coverage Ratio) ก็ช่วยลดเสียงรบกวนลงได้ 10 เดซิเบล

ไฟฟ้ากระแสตรงที่รับมาจากแบตเตอรี่แรงดันสูง ถูกแปลงโดยอินเวอร์เตอร์ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับเพื่อจ่ายไฟเลี้ยงมอเตอร์ไฟฟ้า ชุดอินเวอร์เตอร์ซึ่งติดตั้งไว้ที่เพลาหน้าทำงานแบบสองทิศทาง นั่นหมายถึงมันสามารถแปลงไฟฟ้ากระแสสลับที่ได้จากเพลาหน้าเป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรงเมื่อเหยียบเบรก เพื่อส่งกลับไปชาร์จแบตเตอรี่ได้ อินเวอร์เตอร์ที่ใช้แปลงพลังงานและควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้าด้านหน้าทั้งสองตัว สามารถส่งพลังงานรวม 210 กิโลวัตต์ไปยังเพลา โดยใน F80 อินเวอร์เตอร์ถูกติดตั้งเข้ากับเพลาขับโดยตรง และมีน้ำหนักเพียง 9 กก. ทำให้ชิ้นส่วนนี้มีขนาดเล็กกว่าเมื่อเทียบกับรุ่น SF90 Stradale

แบตเตอรี่แรงดันสูง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของระบบเก็บพลังงาน ถูกออกแบบให้มีกำลังสูงมาก โดยนวัตกรรมการออกแบบแบตเตอรี่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน 3 ประการ คือ เซลลิเธียมแบบเดียวกับรถแข่งฟอร์มูลาวัน, การใช้คาร์บอนไฟเบอร์เป็นวัสดุหลักในโครงสร้างแบบโมโนค็อกของเคส ร่วมด้วยดีไซน์และวิธีการประกอบ (แบบ Cell-to-pack) ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ Ferrari ที่ช่วยลดน้ำหนักและปริมาตรของยูนิตลงได้อย่างมาก ชุดแบตเตอรี่ติดตั้งไว้ส่วนล่างของห้องเครื่อง ทำ

ให้รถทรงตัวได้ดีขึ้นจากการมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ จุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าและของเหลวทั้งหมดรวมอยู่ในระบบเพื่อลดความยาวของสายไฟและท่อ ขณะที่ชุดแบตเตอรี่ประกอบด้วยเซลจำนวน 204 ชุด เชื่อมต่อกันแบบอนุกรมและแบ่งออกเป็น 3 โมดูลย่อย เท่าๆ กัน ทำให้มีความจุรวม 2.3 กิโลวัตต์ชั่วโมง และให้พลังงานสูงสุด 242 กิโลวัตต์

สุดท้ายคือการพัฒนาให้ระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น โดย Ferrari ได้พัฒนาเซนเซอร์ไร้สาย CSC (Cell Sensing Circuit) เพื่อตรวจจับแรงดันไฟฟ้าของเซลล์ด้วยหน้าสัมผัสแบบสปริง และวัดอุณหภูมิเซลล์ด้วยเซ็นเซอร์อินฟราเรด

ข้อมูลทางเทคนิค – FERRARI F80

เครื่องยนต์สันดาปภายใน

ประเภท V6 ทำมุม 120 องศา – Dry Sump
ความจุกระบอกสูบ 2,992 ซีซี
กระบอกสูบ x ช่วงชัก 88 มม. x 82 มม.
กำลังสูงสุด (cv) 900 แรงม้า ที่ 8,750 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 850 นิวตันเมตร ที่ 5,550 รอบ/นาที
รอบเครื่องยนต์สูงสุด 9,000 รอบ/นาที (จำกัดการทำงานสูงสุดที่ 9,200 รอบ/นาที)
อัตราส่วนกำลังอัด 9.5:1
อัตราส่วนกำลังต่อความจุ 300 แรงม้า/ลิตร

ระบบขับเคลื่อนไฮบริด

ประเภท สเตเตอร์แบบ Concentrated Winding, สายไฟแบบ Litz, สเตเตอร์และโรเตอร์ติดตั้งในชุดแม่เหล็ก Halbach array

มอเตอร์ไฟฟ้าชุดหลัง (MGU-K)

แรงดันไฟฟ้า 650 – 860 โวลต์
พลังงานสูงสุด การกู้คืนขณะเบรก: 70 กิโลวัตต์ (95 แรงม้า); ทำงานร่วมกับเครื่องยนต์: 60 กิโลวัตต์ (81 แรงม้า)
แรงบิดสูงสุด 45 นิวตันเมตร
ความเร็วรอบสูงสุด 30,000 รอบ/นาที
น้ำหนัก 8.8 กก.

มอเตอร์ไฟฟ้าชุดหน้า

แรงดันไฟฟ้า 650 – 860 โวลต์
พลังงานสูงสุด (ของมอเตอร์แต่ละตัว) 105 กิโลวัตต์ (142 แรงม้า)
แรงบิดสูงสุด 121 Nm
ความเร็วรอบสูงสุด 30,000 รอบ/นาที
น้ำหนัก 12.9 กก.

แบตเตอรี่แรงดันสูง

แรงดันสูงสุด 860 โวลต์
พลังงานสูงสุด (charge/discharge) 242 กิโลวัตต์
พลังงานไฟฟ้า 2.28 กิโลวัตต์ชั่วโมง
ค่ากระแสที่กำลังไฟสูงสุด 350 แอมป์
การให้พลังไฟฟ้า 6.16 กิโลวัตต์/กก.
น้ำหนัก 39.3 กก.

มิติและน้ำหนัก

ความยาว 4,840 มม.
ความกว้าง 2,060 มม.
ความสูง (ในสภาพน้ำหนักรถพร้อมวิ่งได้) 1,138 มม.
ความยาวฐานล้อ 2,665 มม.
ความกว้างฐานล้อหน้า 1,701 มม.
ความกว้างฐานล้อหลัง 1,660 มม.
น้ำหนักรถเปล่า 1,525 กก.
น้ำหนักรถเปล่า/กำลัง 1.27 กก./แรงม้า
อัตราส่วนน้ำหนัก 42.2% หน้า / 57.8% หลัง
ความจุถังน้ำมัน 63.5 ลิตร
ความจุห้องเก็บสัมภาระ 35 ลิตร

ล้อและยาง

หน้า 285/30 R20
หลัง 345/30 R21

เบรก

หน้า 408 x 220 x 38 มม. (คาลิเปอร์ 6 ลูกสูบ)
หลัง 390 x 263 x 32 มม. (คาลิเปอร์ 4 ลูกสูบ)

ระบบส่งกำลังและเกียร์

8 จังหวะ คลัตช์คู่ F1 DCT

ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์

SSC 8.0: TC, eDiff, SCM, PCV 3.0, FDE 2.0, EPS, ABS-Evo ในทุกโหมดของ Manettino, 6D sensor
performance ABS/ABD

สมรรถนะ

ความเร็วสูงสุด 350 กม./ชม.
0-100 กม./ชม. 2.15 วินาที
0-200 กม./ชม. 5.75 วินาที
100-0 กม./ชม. 28 ม.
200-0 กม./ชม. 98 ม.

อัตราสิ้นเปลือง

เป็นไปตามข้อกำหนด

การปล่อยมลพิษ

เป็นไปตามข้อกำหนด

* ติดตั้งออปชั่น

แชร์
F80 ซูเปอร์คาร์คันล่าสุดจาก Ferrari พละกำลัง 1,200 แรงม้า V6-Hybrid