“เลิกงานแล้วไปกินหมูทะกัน!”
“เครียด หาอะไรอร่อยๆ มากินกันเถอะ!”
“คอแห้งจัง สั่งชาไข่มุกมากินสักแก้วดีกว่า!”
เมื่อเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่กำลังขับเคลื่อนไปด้วยกระแสบริโภคนิยม ทำให้เราถูกรายล้อมไปด้วยธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมากมายแถมยังกดสั่งได้รวดเร็วทันใจจากสมาร์ตโฟน กล่าวได้ว่าสมัยนี้ถ้าอยากกินอะไรก็หากินได้อย่างไม่ยากเย็น แต่ความสะดวกสบายที่มากเกินไปนี้กำลังทำให้คนรุ่นใหม่มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตหลายเท่าตัว!
เมื่อปัญหาโรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินทวีความรุนแรงจนเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของผู้คน ทำให้องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 4 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันอ้วนโลก (World Obesity Day)” อย่างเป็นทางการ เพื่อยกปัญหานี้ขึ้นเป็นวาระสำคัญระดับโลกและกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงภัยจากโรคอ้วน ตลอดจนมีความเข้าใจต่อภาวะแทรกซ้อนและสนับสนุนวิธีการปฏิบัติจริงเพื่อให้ทุกคนบรรลุผลและรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย (2558) ชี้ว่าเกิดปัญหาโรคอ้วนรุนแรงขึ้นทุกปี เพราะคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป โดยมีคนไทยที่มีภาวะน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนถึง 21.4% หรือราว 17.6 ล้านคน ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงไทยมีอุบัติการณ์โรคอ้วนมากกว่าผู้ชายเกือบเท่าตัว!
นพ. ฐากูร วิริยะชัย กุมารแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคติดเชื้อในเด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลวิมุต อธิบายว่า “การสำรวจสุขภาพประชาชนกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2563 พบว่าโรคอ้วนในเยาวชนอายุ 6-14 ปีของกรุงเทพฯ มีอัตราสูงถึง 12.5% โดยเป็นเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหารที่มีแป้ง น้ำตาลและไขมันสูง รวมถึงใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยได้ใช้พลังงานหรือออกกำลังกายน้อย เช่น เล่นเกมคอมพิวเตอร์หรือเล่นโทรศัพท์มือถือ”
คุณหมอยังได้แนะนำวิธีลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งควรประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1. การปรับอาหารให้ถูกสัดส่วน โดยในแต่ละมื้อแบ่งอาหารเป็น 4 ส่วน คือผักกับผลไม้รวมกัน 2 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน และคาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน รวมถึงปรุงอาหารด้วยวิธีการตุ๋น ต้ม นึ่ง อบ ยำและลวก หลีกเลี่ยงการคั่ว ปิ้ง ย่าง เผา ผัด หรือทอด รวมถึงไม่ควรรับประทานอาหารในช่วง 4 ชม. ก่อนเข้านอน 2. การออกกำลังกาย เน้นกิจกรรมที่ทำให้หัวใจเต้นแรงและหายใจเร็วขึ้นในระดับที่ไม่สามารถร้องเพลงได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังสามารถพูดคุยประโยคยาว ๆ ได้ เช่นการเดินเร็วหรือขี่จักรยานต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป และ 3. การปรับแนวคิดและอารมณ์ โดยสร้างเป้าหมายในการลดน้ำหนัก หากรู้สึกหิวให้หากิจกรรมอย่างอื่นทำแทน เช่น ออกกำลังกายหรือดื่มน้ำ ตลอดจนขอให้บุคคลรอบข้างช่วยสนับสนุนการลดน้ำหนักและปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกิดความอยากรับประทานอาหาร
นพ.ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล แพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลวิมุต แบ่งปันข้อมูลที่น่าสนใจเนื่องในวันอ้วนโลกว่า “ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยจากการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 พบว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะอ้วนถึง 42.2% และอ้วนลงพุง 39.4% โดยคนกรุงเทพฯ มีความชุกของภาวะอ้วนสูงที่สุดที่ 47% โดยเฉพาะผู้หญิงในกรุงเทพฯ มีความชุกภาวะอ้วนลงพุงสูงถึง 65.3% ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก เพราะโรคอ้วนจะเพิ่มความเสี่ยงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็ง”
บางคนที่เจอปัญหาอ้วนง่าย แม้ลดอาหารแล้วก็ยังไม่ผอม นพ. ชาญวัฒน์ อธิบายว่า “นอกจากภาวะทางพันธุกรรมและการรับประทานยาบางชนิดที่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม เช่นสเตียรอยด์ การเป็นโรคไทรอยด์ต่ำก็อาจเป็นสาเหตุให้อ้วนขึ้นได้แม้เราจะกินอาหารตามสัดส่วนปกติก็ตาม ดังนั้น หากเรารู้สึกว่าอ้วนง่ายผิดปกติและไม่สามารถลดได้แม้จะพยายามทำตามคำแนะนำทั่วไปอย่างเคร่งครัดแล้ว ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง หรืออาจะเป็นไปได้ว่าแนวทางการลดน้ำหนักที่เราปฏิบัติอยู่อาจไม่ถูกต้อง ซึ่งแพทย์ก็จะได้ให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลต่อไป”
Advertisement