"หมอยง" เตือน RSV ระบาดหน้าฝน พบมากในกลุ่มเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ ย้ำ! โรคนี้เป็นแล้วเป็นอีกได้ แนะวิธีป้องกัน
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า
RSV ฤดูกาลของ RSV
ยง ภู่วรวรรณ
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
30 กรกฎาคม 2567
ในฤดูฝนช่วงนี้ ถึงแม้ว่า โควิด 19 มีแนวโน้มลดลง แต่เป็นฤดูกาลของ RSV
RSV จะพบได้มากตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
RSV พบได้ทุกอายุ แต่จะพบมากใน เด็กเล็กต่ำกว่า 5 ขวบ และผู้สูงอายุ
โรคนี้เป็นแล้วเป็นอีกได้ ในประเทศไทยยังไม่มี วัคซีน ในการป้องกัน การรักษาจะรักษาตามอาการ
การป้องกัน สามารถทำได้เช่นเดียวกับโรคโควิด 19 และทางเดินหายใจทั่วไป เช่นล้างมือบ่อยๆ ให้ถูกวิธี โดยเฉพาะ เด็กนักเรียนหรืออนุบาล สถานเลี้ยงเด็ก ไม่ใช้ของใช้ร่วมกัน ของเล่นในสถานเลี้ยงเด็กต้องหมั่นทำความสะอาด รับประทานอาหารที่สุก สะอาด ดูแลเรื่องสุขอนามัย ผู้ที่ป่วยหรือไม่สบาย ควรใส่หน้ากากอนามัย และหยุดอยู่บ้าน
รู้จัก RSV ไวรัส ก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจ
RSV คืออะไร ? RSV (Respiratory Syncytial Virus) คือไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจ พบบ่อยในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง การระบาดของเชื้อนี้มักพบในฤดูฝนและฤดูหนาวในประเทศไทย
อาการของโรค RSV
เริ่มแรกคล้ายไข้หวัดทั่วไป คือ ไข้ ไอ จาม แต่ก็มีอาการที่สังเกตได้ว่าอาจไม่ใช่อาการหวัดทั่วไปคือ เชื้อไวรัส RSV อาการไอจะมีเสมหะเหนียว ไอมากจนอาเจียน ตัวเขียว อาจมีหายใจเร็ว แรง หายใจลำบาก หรือหายใจแบบมีเสียงวี้ด
การติดต่อของเชื้อไวรัส RSV
1. ติดต่อผ่านทางการหายใจเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
2. การสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง เช่น ของเล่น ลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น
วิธีป้องกันการติดเชื้อ RSV
1. หมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
2. ทำความสะอาดบ้าน และของเล่นเด็กเป็นประจำ
3. ไม่ใช้ช้อนส้อม และแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น เมื่อรับประทานอาหาร
4. หลีกเลี่ยงการให้เด็กๆ สัมผัสบุหรี่ เนื่องจากจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า
5. ในช่วงการระบาดของโรค หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปที่ชุมชนแออัด และเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือปอดอักเสบ
อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
Advertisement