คู่มือการเข้าโรงรับจำนำ มือใหม่ต้องรู้ อะไรจำนำได้-ไม่ได้ ขั้นตอนจำนำ อัตราดอกเบี้ย การไถ่ถอน ทำอย่างไร รวมมาให้ในที่เดียว
ในช่วงเปิดเทอม หรือช่วงเทศกาล หลายคนมักจะประสบปัญหาการเงินติดขัด ไม่พอใช้จ่าย พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนจำเป็นต้องหันหน้าไปพึ่งโรงรับจำนำเอกชนหรือสถานธนานุเคราะห์ (โรงรับจำนำของรัฐ) เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเพื่อบุตรหลาน ทั้งค่าเทอม ค่าชุดนักเรียน ค่าหนังสือ หรืออื่นๆ วันนี้จึงรวบรวมขั้นตอนการจำนำในสถานธนานุเคราะห์ (โรงรับจำนำของรัฐ) เพื่อให้รับทราบและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
บุคคลใดสามารถจำนำสิ่งของได้
บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีบัตรประชาชน และไม่เป็นภิกษุ สามเณร
วันที่เปิด-ปิดให้บริการ
• วันจันทร์ ถึง วันศุกร์
• หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
เวลาให้บริการ
• ช่วงเช้า เวลา 08.00-12.00 น.
• ช่วงบ่าย เวลา 13.00-16.30 น.
ประเภทสิ่งของที่รับจำนำ
สิ่งของประเภทอัญมณี ตั๋วฉบับละไม่เกิน 100,000 บาท
• ทอง
• นาก
• เงิน
• เพชร ที่เป็นรูปพรรณ
สิ่งของประเภทเบ็ดเตล็ด ตั๋วฉบับละไม่เกิน 100,000 บาท
• กล้องถ่ายรูป
• แว่นตา
• เครื่องมือช่าง
• นาฬิกา
• เครื่องใช้ไฟฟ้า
ตั๋วรับจำนำแต่ละฉบับมีระยะเวลา 4 เดือน 30 วัน ผู้มาใช้บริการสามารถส่งดอก จะขอผ่อนก่อนครบกำหนดได้ หรือเพิ่มเงินต้นได้หากทรัพย์นั้นมีมูลค่าสูงกว่าที่ประเมินราคารับจำนำไว้ ทั้งนี้ จะต้องไม่เกินวงเงินที่กำหนด
***เมื่อรวมกันทุกรายการแล้วไม่เกินวงเงิน 500,000 บาท ต่อหนึ่งรายต่อหนึ่งวัน*
วิธีการคิดดอกเบี้ย
จำนำภายในระยะเวลา 15 วัน จะคิดดอกเบี้ยครึ่งเดือน ถ้าเกิน 15 วัน จะคิดดอกเบี้ย 1 เดือน (นับตั้งแต่วันที่ที่จำนำเป็นวันที่ 1)
***ผู้ที่มาส่งดอกเบี้ยหรือไถ่ถอนคืน โปรดมาให้ตรงตามวันที่แจ้ง ในตั๋วจำนำ ในกรณีที่มาภายหลังวันที่กำหนดในตั๋วจำนำอาจเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก***
ขั้นตอนการจำนำ
• ยื่นบัตรประชาชนพร้อมทรัพย์สิน
• เจ้าหน้าที่ประเมินราคา
• สแกนลายนิ้วมือ
• รับเงินพร้อมตั๋วจำนำ
ขั้นตอนการส่งดอกเบี้ย
• แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า "ส่งดอก" พร้อมยื่นตั๋วจำนำและบัตรประชาชน
• ชำระดอกเบี้ย
• รับตั๋วจำนำ (เริ่มต้นตั๋วจำนำฉบับใหม่ออกไปอีก 4 เดือน 30 วัน)
***ส่งดอกแทนกันได้ ไม่จำเป็นต้องมอบฉันทะ โดยตั๋วจำนำยังคงเป็นชื่อเดิม***
ขั้นตอนการไถ่ถอนทรัพย์ที่ไปจำนำ
• แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า "ไถ่ถอน" พร้อมยื่นตั๋วจำนำและบัตรประชาชน
• สแกนลายนิ้วมือ
• ชำระเงินต้นและดอกเบี้ย
• รับทรัพย์จำนำคืน
การแบ่งไถ่ถอนทรัพย์จำนำ
• ถ้าเงินไม่พอไถ่ สามารถแบ่งไปก็ได้ โดยกรณีที่ตั๋วจำนำ 1 ใบ มีทรัพย์จำนำหลายรายการ สามารถแบ่งไถ่บางรายการก่อนได้
ขั้นตอนการแบ่งไถ่ถอนทรัพย์จำนำ
• แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า "แบ่งไถ่ถอน" พร้อมยื่นตั๋วจำนำและบัตรประชาชน
• เลือกรายการที่ต้องการแบ่งไถ่
• เจ้าหน้าที่ตีราคาทรัพย์จำนำที่เหลือโดยหักลบกับเงินต้น + ดอกเบี้ย เป็นจำนวนเงินที่ลูกค้าต้องการชำระ
• สแกนลายนิ้วมือ
• ชำระเงินแล้วรับตั๋วจำนำฉบับใหม่ พร้อมทรัพย์จำนำที่แบ่งไถ่คืน
การขอเพิ่มเงินต้น
กรณีทรัพย์จำนำยังไม่เต็มวงเงิน สามารถขอเพิ่มเงินต้นได้ ทำตามขั้นตอนดังนี้
• แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า "เพิ่มต้น" พร้อมยื่นตั๋วจำนำและบัตรประชาชน
• เจ้าหน้าที่จะนำทรัพย์จำนำออกมาตรวจสอบ หากทรัพย์จำนำยังไม่เต็มวงเงิน เจ้าหน้าที่จะทำการออกตั๋วจำนำใบใหม่ให้
• สแกนลายนิ้วมือ
• เจ้าหน้าที่จะเรียกชำระดอกเบี้ยของตั๋วจำนำฉบับเดิม และรับตั๋วจำนำฉบับใหม่ พร้อมเงินที่เพิ่มต้นได้
การมอบฉันทะ
• เจ้าของตั๋วพิมพ์ลายนิ้วมือมอบฉันทะด้านหลังตั๋วให้ชัดเจน ตรวจสอบได้เหมือนที่หน้าตั๋ว
• กรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน
• เตรียมสำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของตั๋วและผู้รับมอบมาด้วย
ตั๋วจำนำหายทำอย่างไร
• ให้เจ้าของตั๋วมาแจ้งที่สถานธนานุเคราะห์ที่จำนำไว้ เจ้าหน้าที่จะออกใบแทนให้
• นำใบแทนที่สถานธนานุเคราะห์ออกให้ ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ
• ให้นำใบบันทึกประจำวันและใบแทนที่สถานธนานุเคราะห์ออกให้ กลับมาเพื่อส่งดอกหรือไถ่ถอนต่อไป
กรณีเจ้าของตั๋วจำนำเสียชีวิต
ผู้ที่ดำเนินการแทนต้องเป็นผู้จัดการมรดก พร้อมมีคำสั่งศาล และต้องนำหลักฐานาติดต่อที่สถานธนานุบาล เพื่อดำเนินการส่งดอกเบี้ย หรือไถ่ถอน ได้แก่
• ตั๋วรับจำนำ
• ใบมรณบัตร พร้อมสำเนา
• สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ตาย พร้อมสำเนา
• บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มาแทน พร้อมสำเนา
• คำสั่งศาล ในกรณีเป็นผู้จัดการมรดก
• นำเอกสารด้านบนที่กล่าวมา ไปแจ้งความที่ สน.ท้องที่ ที่สถานธนานุบาลตั้งอยู่
• นำเอกสารทั้งหมดไปกรมการปกครอง แผนกควบคุมโรงรับจำนำ เพื่อประทับตราอนุญาต
• นำเอกสารทั้งหมดกลับมาติดต่อที่สถานธนานุบาล เพื่อทำการส่งดอกเบี้ย หรือ ไถ่ถอน ต่อไป
กรณีไม่มีคำสั่งศาล
ให้ทำเป็นหนังสือให้ทายาททุกคนเซ็นยินยอม และนำไปแจ้งความ ลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจท้องที่ และไปประทับตราอนุญาต ที่แผนควบคุมโรงรับจำนำ
การส่งดอกแบบออนไลน์
ปัจจุบันสามารถส่งดอกแบบออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องเดินไปที่สถานธนานุเคราะห์ โดยไปที่ร้านสะดวกซื้อ หรือเคาน์เตอร์เซอร์วิส ยื่นตั๋วจำนำและบัตรประชาชนให้พนักงาน ชำระเงิน แล้วรับสลิป
การประเมินทรัพย์ออนไลน์
• เข้าไปที่เว็บไซต์ สถานธนานุเคราะห์ www.pawn.co.th แล้วเลือกการประเมินทรัพย์ออนไลน์
• เลือกสถานธนานุเคราะห์ใกล้บ้าน แล้วกรอกข้อมูลยืนยันตัวตน อีเมล เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้
• ถ่ายภาพทรัพย์จำนำระบุรายละเอียดให้ชัดเจน ระบุจำนวนเงินที่ต้องการ
• รอรับ sms ราคาประเมินทรัพย์
ทั้งนี้ สำนักงานธนานุเคราะห์เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดให้บริการจำนวน 39 สาขา โดยตั้งอยู่ในเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 29 สาขา และปริมณฑล ประกอบด้วย นนทบุรี จำนวน 2 สาขา ปทุมธานี จำนวน 1 สาขา สมุทรปราการ จำนวน 1 สาขา ระยอง จำนวน 2 สาขา ลำพูน จำนวน 1 สาขา สุราษฎร์ธานี จำนวน 1 สาขา อุดรธานี จำนวน 1 สาขา และพิษณุโลก จำนวน 1 สาขา
Advertisement