ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 กำหนดคำนิยามของคดีพิเศษ ไว้ว่า "คดีพิเศษ" หมายถึง คดีความผิดทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 ซึ่งกำหนดให้คดีพิเศษ จะต้องสืบสวนและสอบสวน ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 สามารถจำแนกคดีพิเศษออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
ประเภทที่ 1 คดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1)
- คดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ
- คดีความผิดทางอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือระบบเศรษฐกิจหรือการคลังของประเทศ
- คดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม
- คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน
- คดีความผิดทางอาญาที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษเป็นผู้ต้องสงสัยเมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าน่าจะได้กระทำความผิดอาญาหรือเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา
ซึ่งปัจจุบันได้มีประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 โดยได้กำหนดให้คดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตามกฎหมาย จำนวน 23 ฉบับ
1. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
2. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
3. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
4. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า
5. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด
6. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
7. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์
8. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร
9. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
10. คดีความผิดตามประมวลรัษฎากร
11. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
12. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต
13. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระท าความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
14. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
15. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
16. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่
17. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
18. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย
19. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
20. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้
21. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ
22. คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ
23. คดีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ประเภทที่ 2 คดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2)
หมายถึง คดีความผิดทางอาญาอื่น นอกจาก ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ของคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ กล่าวคือ เป็นคดีความผิดทางอาญาอื่นที่มิใช่คดีความผิดทางอาญาตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่องกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 ว ร รคหนึ่ง (1 ) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 จำนวน 23 ฉบับ ที่คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ของคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ให้เป็นคดีพิเศษทั้งนี้ กรณีคดีพิเศษดังกล่าวจะเป็นไปตามประกาศ กคพ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการ ร้องขอและเสนอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2561
คดีพิเศษประเภทนี้เป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการคดีพิเศษเป็นการเฉพาะที่จะเห็นสมควรว่าจะนำคดีอาญาใดมาดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการคดีพิเศษยึดแนวทางการวินิจฉัยลักษณะของการกระทำความผิดโดยเทียบเคียงกับลักษณะของการกระทำความผิดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก) - (จ) ด้วย โดยคณะกรรมการคดีพิเศษได้ออกระเบียบ กคพ. ว่าด้วยการสืบสวนคดีความผิดทางอาญาเพื่อเสนอ กคพ. มีมติให้เป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2551 กำหนดวิธีการสืบสวนคดีความผิดประเภทนี้เพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณา ซึ่งข้อ 7 (2) ได้กำหนดให้สืบสวนถึงลักษณะของการกระทำความผิดว่ามีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก) - (จ) ด้วยหรือไม่
กระบวนการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการคดีพิเศษต้องเป็นไปตามประกาศ กคพ. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการร้องขอและเสนอให้ กคพ. มีมติให้คดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2561 กล่าวคือ ในกรณีผู้ร้องขอเป็นประชาชน องค์กรเอกชน นิติบุคคล ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ยื่นคำร้องขอและกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคำสั่งรับคำร้องขอไว้พิจารณาแล้วจะส่งเรื่องไปยังคณะอนุกรรมการกลั่นกรองซึ่งมีรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (1) – (4) เป็นประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง พิจารณาในเบื้องต้น ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณาต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนส่งเรื่องดังกล่าวไปยังคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณานั้น หากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอพิจารณา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการสอบข้อเท็จจริงหรือสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และระเบียบที่เกี่ยวข้องก็ได้ นอกจากช่องทางดังกล่าวแล้วประกาศ กคพ. ยังให้อำนาจกรณีผู้ร้องขอเป็นกรรมการคดีพิเศษหรือเป็นเรื่องที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่ามีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเสนอคณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการคดีพิเศษอาจนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการคดีพิเศษได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองก็ได้
ประเภทที่ 3 คดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคสอง
คดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคสอง คือ คดีความผิดทางอาญาที่มีการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทและบทใดบทหนึ่งจะต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 หรือคดีที่มีการกระทำความผิดหลายเรื่องต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน และความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะต้องดำเนินการ โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจ สืบสวนสอบสวน สำหรับความผิดบทอื่นหรือเรื่องอื่นด้วย และให้ถือว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ
คดีพิเศษประเภทนี้ เป็นการดำเนินคดีในลักษณะขององค์กรอาชญากรรม หรืออาชญากรรมที่มีการกระทำในลักษณะที่เป็นโครงสร้างเชื่อมโยงกัน เนื่องจากบางกรณีมีการกระทำความผิดในหลายเรื่องภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน หากการกระทำความผิดอื่นนั้นเป็นความผิดบทอื่น หรือเป็นความผิดที่ไม่มีลักษณะที่จะเป็นคดีพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใด ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) หรือเป็นเรื่องที่คณะกรรมการคดีพิเศษยังไม่ได้มีมติให้เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) กฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษก็ให้ถือว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนและการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมพิเศษดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งแนวทางการพิจารณาคดีประเภทนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ยึดหลักการเดียวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24 เป็นแนวทางประกอบการพิจารณา
ประเภทที่ 4 คดีที่ได้ทำการสอบสวนเสร็จโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
บรรดาคดีใดที่ได้ทำการสอบสวนเสร็จแล้วโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ให้ถือว่าการสอบสวนนั้นเป็นการสอบสวนในคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 แล้ว ทั้งนี้ ตามมาตรา 21 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
คดีพิเศษประเภทนี้ เป็นกรณีที่บัญญัติไว้เพื่อป้องกันการต่อสู้ในเรื่องอำนาจการสอบสวนในคดีพิเศษ เนื่องจากการเป็นคดีพิเศษมีเงื่อนไขในการพิจารณาหลายประการดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้น หากความปรากฏภายหลังจากที่ได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้นโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษแล้วว่าขาดเงื่อนไขหรือองค์ประกอบอย่างหนึ่งอย่างใดของการเป็นคดีพิเศษกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษให้ถือว่าการสอบสวนนั้นเป็นการสอบสวนในคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 แล้วเพื่อให้เป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้กระบวนการดำเนินคดีอาญาในคดีนั้นสามารถดำเนินการต่อไปได้
ประเภทที่ 5 คดีพิเศษที่ค้างดำเนินการและคดียังไม่ถึงที่สุด
บรรดาคดีพิเศษที่ค้างการดำเนินการและคดียังไม่ถึงที่สุดอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ใช้บังคับ ให้ยังคงเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาตามกฎหมายนั้น ๆ ต่อไปจนคดีถึงที่สุด เว้นแต่ คณะกรรมการคดีพิเศษจะมีมติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ทั้งนี้ ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
Advertisement