วันที่ 10 พ.ย.64 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีรัฐมนตรีขอเลื่อนการตอบกระทู้ ว่า ต้องยอมรับว่าการตอบกระทู้ในปัจจุบันมีมากกว่าในอดีต ซึ่งได้แจ้งในที่ประชุมว่าอยากให้เป็นมาตรฐานไว้ว่า ใครจะมาเป็นรัฐบาล หรือ ส.ส.ในภายภาคหน้าต้องมีมาตรฐานความรับผิดชอบตอบกระทู้ถาม เพราะเราเคยมีประสบการณ์ที่ผ่านมาว่ารัฐมนตรีหนีกระทู้ จึงพยายามสร้างบรรทัดฐานขึ้นมา
นายชวนกล่าวว่า แต่ถ้าไปดูตัวเลขจะเห็นว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้มีการตอบกระทู้ถามมากเป็นพิเศษ แต่บังเอิญการประชุมสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่มีปัญหา เพราะนัดประชุมวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นข้อตกลงตั้งแต่แรกว่าวันพฤหัสบดีจะเป็นการตอบกระทู้ แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการประชุมในวันพฤหัสบดีเป็นนัดพิเศษจึงทำให้รัฐมนตรีมาตอบกระทู้ได้เพียงท่านเดียว ซึ่งได้ประสานพูดคุยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าให้แจ้งรัฐบาลว่าวันพฤหัสบดี ทางสภาเขานัดล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องกันวันนี้ไว้ เพื่อให้รัฐมนตรีมาตอบกระทู้ ยกเว้นกระทู้สดที่ถามตอนเช้า รัฐมนตรีจะไม่มีวันรู้ก่อนล่วงหน้าว่าสมาชิกจะถามเรื่องอะไร บังเอิญรัฐมนตรีท่านนั้นไม่รู้ หรือไม่ทราบเรื่องมาก่อน ก็อาจจะไม่อยู่และไม่พร้อม ก็เป็นไปได้ ตามปกติแต่โดยทั่วไปเขาก็มาตอบกระทู้
ส่วนเรื่ององค์ประชุมมีปัญหา เพราะเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ในการประชุมระดับรัฐสภาไม่มีครั้งไหนที่องค์ประชุมไม่ครบ มีเพียงการประชุมร่วมครั้งสุดท้ายสมัยที่แล้วที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งยังไม่มีการลงมติ แต่แนวโน้มองค์ประชุมจะไม่ครบ เพราะไม่มีใครรู้ว่าการอภิปรายจะจบเมื่อไหร่ เนื่องจากมีผู้อภิปรายกว่า 70 คน ถือว่ามากเป็นประวัติศาสตร์ จึงทำให้มีปัญหาขึ้นมา และเมื่อดูแล้วคนในห้องก็ไม่อยากกดบัตรแสดงตนประชุม เพราะเขาไม่อยากประชุม จึงสั่งปิดประชุมไป และมาลงมติเมื่อการประชุมร่วมเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
นายชวนกล่าวว่า ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรก็มีปัญหา แต่ไม่มากเกินไป จะมีในลักษณะถ้ามีการอภิปรายยึดเยื้อและมีทีท่าว่าสมาชิกจะอยู่ไม่ครบ จึงได้มาตกลงเมื่อการประชุมร่วม 3 ฝ่ายว่าให้จัดสัดส่วนการอภิปรายตามจำนวน ส.ส. เช่น พรรคเพื่อไทยมีเสียงมากก็มีสิทธิอภิปรายมาก ซึ่งในอดีตก็มีการทำแบบนี้ แต่ช่วงหลังเปิดโอกาสให้ทุกคน แต่ก็เป็นหน้าที่ของเขาต้องอภิปราย เพราะสภาเป็นที่อภิปราย แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะพูดได้ทุกเรื่องจนกินเวลาคนอื่น เพราะเวลามีค่า ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในหมู่สมาชิกส่วนหนึ่งที่มาเล่าให้ฟัง จึงได้บอกไปว่าถ้าอย่างนั้นจะมาหารือกันว่าในการอภิปรายกฎหมายแต่ละฉบับควรกำหนดเวลา แต่เรื่องนี้เคยมีการประสานกันไว้แล้วในสมัยประชุมก่อนๆ ว่าแต่ละเรื่องไม่ควรเกินกี่ชั่วโมง เช่น อภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี
"เรื่ององค์ประชุมแล้วทุกคนต้องร่วมมือกัน แต่ในระบบนี้รัฐบาลอยู่ได้ด้วยเสียงข้างมาก เพราะถ้าไม่ใช่เสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ ดังนั้นหน้าที่รักษาองค์ประชุมเป็นของ ส.ส.รัฐบาล ถือเป็นภารกิจจะต้องทำและอย่าไปโยนให้วิป เพราะวิปเป็นเพียงผู้ควบคุมเสียง ไม่ใช่คนที่จะบอกว่าเสียงครบหรือไม่ครบ ดังนั้นอยู่ที่สมาชิกรับผิดชอบและพรรคการเมืองต้องดูแลคนของตนเอง รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ผมก็เตือนว่าเป็นรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบต่อเสียงไม่ใช่ขาดประชุมแล้วไปโยนให้คนอื่น มันไม่ได้" นายชวน กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เช็กด่วน! ตรวจสอบผู้มีสิทธิ เลือกตั้งท้องถิ่น ไม่พบชื่อ-เจอชื่อผี รีบแจ้งถึง 17 พ.ย.นี้
- ปารีณา หลุด กมธ.งบฯ 65 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีรุกป่า 7 เม.ย.65
- เต้ มงคลกิตติ์ เชียร์ เก็บภาษีเจ้ามือหวยใต้ดิน แก้ไขปัญหาน้ำมันแพง
Advertisement