มหากาพย์คดี เหมืองทองอัครา จิราพร สินธุไพร ส.ส.เพื่อไทย ชวน ปชช.จับตาวันตัดสิน 31 ม.ค.นี้ รัฐบาลส่อมีดีลใหญ่ยกทรัพย์สินชาติแลก คิงส์เกต ถอนฟ้อง?
กรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ จะมีคำชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดท จํากัด ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด กับราชอาณาจักรไทย จากการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 72/2559 ระงับการทำเหมืองทองคำและประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ
วันที่ 26 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาเคลื่อนไหวถึงกรณีดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 65 ที่ผ่านมา มีความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กับราชอาณาจักรไทย ซึ่งล่าสุดบริษัทคิงส์เกตฯ แจ้งว่า รัฐบาลไทยอนุมัติสัญญาเช่าพื้นที่ 4 แปลงให้กับบริษัทและเปิดทางให้กลับมาทำเหมืองแร่ชาตรีได้อีกครั้งหลังจากที่ต้องหยุดดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งการที่รัฐบาลยอมให้บริษัทอัคราฯ กลับมาดำเนินการได้ก่อนที่จะมีคำชี้ขาดจากคณะอนุญาโตตุลาการเท่ากับเป็นการก้มหน้ายอมรับว่าการใช้ มาตรา44 ปิดเหมืองแร่ทองคำเป็นการกระทำผิดต่อบริษัทคิงส์เกตฯ และถือเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยกำลังจะแพ้คดี จึงยอมกลืนน้ำลายตัวเองเพื่อเปิดทางเจรจาให้มีการถอนฟ้อง
โดยที่ผ่านมาคดีเหมืองทองอัคราถูกเลื่อนการออกคำชี้ขาดถึง 3 ครั้ง (เดิมจะออกคำชี้ขาด 31 ม.ค. 64 แต่ถูกเลื่อนออกไปเป็นต้นเดือน เม.ย. 64 และถูกเลื่อนอีกครั้งเป็น 31 ต.ค. 64) ซึ่งล่าสุดการออกคำชี้ขาดถูกเลื่อนเป็นวันที่ 31 ม.ค. 65 ที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ หากพิจารณาจากกฎของ UNCITRAL ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการใช้ในการตัดสินคดี คาดว่าผลการตัดสินสามารถออกมาได้ 3 แนวทาง คือ
แนวทางที่ 1: ยุติกระบวนการอนุญาโตตุลาการตามที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายร้องขอ หรือเรียกว่าทั้งสองฝ่ายประณีประนอมยอมความกัน ซึ่งอาจเกิดผลใน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก บริษัทคิงส์เกตฯ ถอนคดีออกจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และ รูปแบบที่สอง คณะอนุญาโตตุลาการไม่ได้ตัดสินว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด แต่จะนำข้อตกลงประณีประนอมยอมความของคู่กรณีมาบันทึกไว้โดยไม่มีความเห็นของอนุญาโตตุลาการประกอบ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามจะสามารถนำบันทึกข้อตกลงนั้นไปบังคับคดีต่อไปได้
แนวทางที่ 2: ออกคำชี้ขาดแค่บางส่วนบางประเด็น แล้วเก็บข้อพิพาทที่เหลือไว้ออกคำชี้ขาดในภายหลัง ซึ่งจะกลายเป็นภาระส่งต่อยังรัฐบาลต่อไป
แนวทางที่ 3: ออกคำชี้ขาดของข้อพิพาททั้งหมด ซึ่งแนวทางนี้ไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นฝ่ายแพ้คดีสูงมาก และหากไทยแพ้คดีต้องชดเชยเป็นเงินและทองคำมูลค่าขั้นต่ำ 30,000 ล้านบาท คำถามคือแล้วพลเอกประยุทธ์ จันโอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ในขณะนั้นที่บอกว่าจะรับผิดชอบเอง จะรับผิดชอบอย่างไร?
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยรู้ตัวว่ากำลังจะแพ้คดีจึงมีดีลใหญ่กับบริษัทคิงส์เกตเพื่อแลกกับการถอนฟ้องใช่หรือไม่? เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้อนุมัติสิทธิสำรวจแร่ทองคำในพื้นที่เกือบ 400,000 ไร่ ให้กับบริษัทคิงส์เกตฯ และยังเร่งอนุญาตสัญญาเช่าอีก 4 แปลงเพื่อเปิดทางให้เหมืองทองอัคราสามารถกลับมาดำเนินการได้ก่อนที่จะมีการตัดสินคดีด้วยซ้ำ ซึ่งอาจเป็นการนำทรัพย์สมบัติชาติไปมัดจำก่อนตามที่ได้เจรจาไว้ และยังมีพื้นที่อีกเกือบ 600,000 ไร่ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่รอการอนุมัติเพิ่มเติมหลังจากนี้ ซึ่งมีประเด็นปัญหาว่า การที่รัฐบาลไทยนำทรัพยากรชาติไปใช้ในการเจรจาต่อรองในลักษณะนี้เป็นการดีลที่เกินกว่าข้อพิพาทหรือไม่ ซึ่งในอนาคตอาจเกิดปัญหาทางกฎหมายได้
ขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศช่วยกันจับตาผลการตัดสินคดีเหมืองทองอัคราในวันที่ 31 ม.ค. นี้ อย่างใกล้ชิด และร่วมกันลงชื่อกับพรรคเพื่อไทย https://lin.ee/lOrhxhc เพื่อ คัดค้านการนำสมบัติชาติไปสังเวยความผิดพลาดของพลเอกประยุทธ์ อย่าให้พลเอกประยุทธ์ผลักความผิดพลาดของตัวเองมาให้ประชาชนและประเทศชาติต้องรับผิดชอบแทน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อไทย แถลง-ผุดแคมเปญล่าชื่อต้าน ประยุทธ์ ยกสมบัติชาติแลกผิดปม เหมืองทองอัครา