สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ พบประชาชนมองว่าการเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม. ครั้งนี้เป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง มีแพ้มีชนะ รองลงมาคือ มองว่าคนไปใช้สิทธิน้อยกว่าที่คาดไว้ ซึ่งจากผลการเลือกตั้งซ่อมรู้สึกเฉย ๆ โดยมองว่าผลการเลือกตั้งซ่อมส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในด้านผู้สมัครที่จะต้องปรับกลยุทธ์การทำงาน ขยันลงพื้นที่ และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการเมืองไทยในภาพรวม ทั้งนี้การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ประชาชนจับตาดูผลงานของนักการเมืองมากขึ้นรองลงมาคือ การหาเสียงดุเดือด บรรยากาศทางการเมืองร้อนแรงมากขึ้น
วันที่ 6 ก.พ. 65สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,067 คน ระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ประชาชนมองว่าการเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม. ครั้งนี้เป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง มีแพ้มีชนะ ร้อยละ 41.30 รองลงมาคือ มองว่าคนไปใช้สิทธิน้อยกว่าที่คาดไว้ ร้อยละ 40.45 จากผลการเลือกตั้งซ่อมรู้สึกสมหวัง ร้อยละ 39.64 รู้สึกผิดหวัง ร้อยละ 12.09 และรู้สึกเฉย ๆ ร้อยละ 48.27 โดยมองว่าผลการเลือกตั้งซ่อมส่งผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในด้านผู้สมัครที่จะต้องปรับกลยุทธ์การทำงาน ขยันลงพื้นที่ ร้อยละ 67.04 และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการเมืองไทยในภาพรวม ร้อยละ 60.83 ไม่มีผลกระทบ ร้อยละ 39.17 ทั้งนี้การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ประชาชนจับตาดูผลงานของนักการเมืองมากขึ้น ร้อยละ 77.13 รองลงมาคือ การหาเสียงดุเดือด บรรยากาศทางการเมืองร้อนแรงมากขึ้น ร้อยละ 60.44
ผลการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเพิ่มเสียงให้พรรคฝ่ายค้านในสภาอีก 1 เสียงแล้ว ก็ยังช่วยฉายภาพให้เห็นทิศทางของการเมืองไทยชัดเจนมากขึ้น โดยประชาชนก็จะจับตาดูผลงานของนักการเมืองอย่างใกล้ชิด ดังนั้น ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจึงต้องเร่งทำงานช่วยเหลือประชาชน กอบกู้ภาพ ส.ส.สภาล่ม เพราะสิ่งนี้อาจนำไปสู่การตัดสินใจของประชาชนในวันเลือกตั้งใหญ่ได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจพร พึงไชย ผู้ช่วยคณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง เปิดเผยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งซ่อมเพียงหนึ่งเขต ประกอบกับอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายจึงอาจทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลดลง จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เป็นเพียงการประลองกำลังความนิยมของพรรคการเมือง แต่ถ้าหากว่าพรรคพลังประชารัฐยังไม่มีการปรับกลยุทธ์ทั้งตัวผู้สมัครที่จะต้องลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงประชาชน ความสั่นคลอนภายในพรรคที่ดูเหมือนยังหาจุดลงตัวไม่ได้ ประกอบกับความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีลดลง และหากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคพลังประชารัฐไม่สามารถสรรหาคนที่มีราคาเพียงพอที่คนกรุงเทพฯ จะซื้อได้ เกิดพ่ายแพ้ในสนามผู้ว่าฯ กทม.อีก เป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้าพรรคพลังประชารัฐอาจไปไม่ถึงการได้เป็นรัฐบาล และอาจล่มสลายแปรเปลี่ยนไปรวมกับพรรคอื่น หรือตั้งพรรคใหม่ นับจากนี้คงต้องห้ามกระพริบตาเพราะการเมืองไทยผันแปรได้เสมอ