หวั่นเด็กเกิดน้อยลง แรงงาน ไม่พอ วานนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2565) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นางต้องใจ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงานนางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการ เด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายบุญเลิศ ค่อนสอาด ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัยร่วมแถลงข่าว “ทางออกประเทศไทย ในยุคเด็กเกิดน้อย” ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เนื่องจากสัดส่วนประชากรวัยเด็กและวัยทำงานลดลง ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ เหตุผลสำคัญที่ทำให้เด็กเกิดน้อย คือ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่เรียนสูงขึ้น แต่งงานช้า มีค่านิยมอยู่เป็นโสด รักความอิสระ มีความหลากหลายทางเพศ ความต้องการมีบุตร และจำนวนบุตรที่ต้องการเปลี่ยนไป มองการมีบุตรเป็นภาระ เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรสูงเกินไป มาตรการที่จูงใจ ให้คนต้องการมีบุตรตามที่ครอบครัวต้องการมีน้อย เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนชะลอการมีบุตร บางส่วนประสบปัญหาภาวะมีบุตรยาก และไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษาได้โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผลักดันมาตรการสำคัญเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเกิด ที่มีคุณภาพ
อาทิ การให้สิทธิการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์ในทุกกลุ่มอายุ และทุกการตั้งครรภ์ การสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคในช่องปากแก่หญิงตั้งครรภ์คนไทยทุกคน ทุกสิทธิ การคัดกรองธาลัสซีเมียในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ การตรวจเลือดคัดกรองเบาหวานในกลุ่มอายุ 25 - 59 ปี และการเพิ่มสิทธิการตรวจคัดกรองซิฟิลิส และการตรวจยืนยันในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่อยู่ระหว่าง การผลักดัน ได้แก่ การผลักดันให้การรักษาภาวะมีบุตรยากเป็นสิทธิประโยชน์ การส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อลดภาระ และความกังวลใจให้กับพ่อแม่ระหว่างทำงาน
“การแถลงข่าวในครั้งนี้จึงเป็นการแจ้งเตือน เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ในอนาคต ไม่ว่าประชาชนจะเลือกอยู่เป็นโสด มีบุตร ไม่มีบุตร เพราะผลกระทบนี้จะส่งผลต่อทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดที่มีคุณภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่ไร้ลูกหลาน ผู้สูงอายุดูแลกันตามลำพัง ภาระพึ่งพิง ที่มีต่อวัยทำงานสูงขึ้น จึงเสนอให้รัฐบาลหันมาลงทุนในมนุษย์ โดยเฉพาะการลงทุนในเด็ก ซึ่งมีความคุ้มค่าสูงสุด แทนการมุ่งเน้นเรื่องการบริโภคของประชากรแต่ละครอบครัว เพื่อลดความกังวลใจในการเลี้ยงดูบุตร ลดภาระค่าใช้จ่ายหรือค่าครองชีพให้กับประชาชน ส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่ต้องการมีบุตร โดยไม่เลือกปฏิบัติ เข้าใจความหลากหลายทางเพศ และสิทธิมนุษยชน ลงทุนในระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการหลุดจากระบบการศึกษา ภายใต้การประกาศนโยบายประชากร โดยให้คุณค่ากับเด็กทุกคน “เป็นลูกของรัฐบาล”ภายใต้หลักการสำคัญ 2 ประการ คือ การมีส่วนร่วม และ การเป็นเจ้าของร่วมกัน” รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการประกาศใช้นโยบายวางแผนครอบครัวแห่งชาติมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2513 ส่งผลให้จำนวนการเกิดปี 2562 ลดต่ำกว่า 600,000 คน เป็นครั้งแรก จนถึงปัจจุบันจำนวนการเกิดเหลือเพียง 544,570 คน ซึ่งเป็นการลดลงต่ำที่สุด นับจากการประกาศ นโยบายวางแผนครอบครัวอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับอัตราเจริญพันธุ์รวม หรือ TFR ที่ลดต่ำลงเหลือเพียง 1.3 ในปี 2564 จำนวนการเกิดที่ลดต่ำลงนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร ทำให้ฐานแคบลง ไม่มั่นคง
หากไม่มีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะจากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2583 สัดส่วนวัยเด็กจะเหลือเพียงร้อยละ 12.8 วัยทำงาน ร้อยละ 56.0 ในขณะที่วัยสูงอายุจะมี สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 31.2 ทำให้ภาระพึ่งพิงวัยแรงงานเพิ่มขึ้น โดยวัยแรงงาน 1.7 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งนับเป็นภาระที่หนักของวัยแรงงาน ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเอง ครอบครัว หรือบุตร นอกจากนี้ จำนวนวัยแรงงานที่ลดลง จะส่งผลให้จำนวนผู้เสียภาษีน้อยลง งบประมาณในการดูแลประชาชนไม่เพียงพอ การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ และเกิดสังคมไร้ลูกหลาน ความอบอุ่นในครอบครัวขาดหายไป ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้ โดยรวมแล้ว จำนวนการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อประเทศในอนาคต ทั้งด้านโครงสร้างประชากร โครงสร้างครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนความมั่นคงของประเทศอย่างรุนแรง
ด้าน ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ราชวิทยาลัยส่งเสริมการแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย โดยการรักษาผู้มีบุตรยาก ขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นแต่คาดว่ายังไม่เพียงพอ การรักษาไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด รักษา 100 คน จะมีประมาณ 30 คน ที่สำเร็จ ค่าใช้จ่ายสูงถึงล้านบาท ทั้งนี้ เราจะไปร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อออกระเบียบรักษาผู้มีบุตรยากให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนประเด็นการตั้งครรภ์ ต้องย้ำว่าต้องมีการเตรียมตัววางแผนที่ดี โดยคนไทยยังขาดเรื่องนี้ และพบว่ามีการตั้งครรภ์บังเอิญ ตั้งครรภ์ไม่ต้องการ โดยการวางแผนตั้งครรภ์ต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เช่น ลดน้ำหนักเตรียมตั้งครรภ์ รักษาโรคประจำตัวให้ได้ ฉีดวัคซีนป้องกันครรภ์พิการ ยังมีโครงการแบบนี้น้อยในประเทศไทย ขณะที่การตั้งครรภ์คุณภาพต้องเกิดจากการดูแลที่มีคุณภาพ ตั้งแต่เรื่องอายุของหญิงตั้งครรภ์ที่มากขึ้น ก็มีโอกาสทำให้เด็กในครรภ์พิการทางสมองได้ ฉะนั้น ราชวิทยาลัยได้พัฒนาการดูแลหญิงตั้งครรภ์ คัดกรองภาวะปัญญาอ่อนในเด็ก รักษาเบาหวานของแม่ ดูแลครรภ์ภาวะเป็นพิษ ไปจนถึงปัญหาครรภ์แฝดที่เส้นเลือดเชื่อมกัน ก็ใช้เทคโนโลยีแยกครรภ์ให้เด็กรอดทั้งคู่ ซึ่งเราก็จะพัฒนากันต่อเนื่องต่อไป
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาเด็กเกิดน้อยมีสาเหตุมาจากคนมีลูกช้าลง เพราะกว่าจะเรียนจบ สร้างฐานะครอบครัว เมื่อมีบุตรก็ไม่มีเวลาเลี้ยง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น คนจึงไม่ต้องการมีภาระในการเลี้ยงดูบุตร หรือคู่แต่งงานแล้วไม่อยากมีบุตร และด้วยความรู้เรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์ที่เข้าถึงได้ง่าย
“ปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ตอนนี้ทางยุโรป ฝรั่งเศส ดีขึ้นในการรักษาประชากรให้คงที่ ส่วนไทยเราเกิดประชากรเฉลี่ย 1.3 ต่อหญิงหนึ่งคน เราต้องการเป็น 2.1-2.3 เพื่อรักษาประชากรให้คงที่ เพราะตอนนี้ลดลงเรื่อยๆ อีกไม่กี่ปีจะเหลือ 40 ล้านคนได้ ดังนั้น หากจะรักษาประชากรต้องมีลูก 2-3 คน อย่างไรก็ตาม เงินอุดหนุนเด็กควรจะให้เป็นระยะยาว ส่วนการทำงานที่บ้านก็จะช่วยให้พ่อแม่มีเวลาดูแลลูกที่บ้านได้ อบรมให้พ่อมีส่วนช่วยดูแล อย่างต่างประเทศที่ให้พ่อหยุดงานเพื่อดูแลลูกด้วย” ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ประชากรไทยลดลง อยู่ที่ 66,171,439 คน กทม.มากสุด 5.5 ล้าน
- กระทรวงแรงงานศึกษาขึ้น ค่าแรงขั้นตํ่า เป็น 492 บาท จาก 325 บาท
- จีน แก้กฎหมายปรับเป็นนโยบาย ลูกสามคน หวังเพิ่มสัดส่วนประชากร