นายกฯ ย้ำรัฐบาลชุดปัจจุบัน เข้ามาตามกลไกรัฐธรรมนูญ 2560 เผย 9 เดือนแรกปี 64 เศรษฐกิจไทยพลิกเป็นบวก 1.3% ต่อปี ขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2,339 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 7.7 แสนล้านบาท ทั่วโลกชมการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาล
วันนี้ (17 ก.พ. 65) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงถึงข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้านซึ่งมีทั้งหมด 15 ประเด็น ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปการชี้แจงของนายกรัฐมนตรี ดังนี้
นายกรัฐมนตรี พร้อมรับฟังการอภิปรายฯ ครั้งนี้ ด้วยเหตุด้วยผล อะไรที่เป็นประโยชน์พร้อมรับไปแก้ไขดำเนินการ ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหามาตลอด ร่วมงานกับ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการทั่วประเทศ แม้ว่าจะมีข้อบกพร่อง อย่างไรก็ดี หลายท่านมองว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความสามารถ ซึ่งอยู่กับความเชื่อมั่น และผู้ให้ความเชื่อมั่นคือประชาชนทั่วประเทศ ทั้งนี้แม้ว่าฝ่ายค้านจะเคยบอกว่าให้นายกรัฐมนตรีวางบทบาทเหมือนรามเกียรติ์ อย่างไรก็ดี ประเทศชาติ ไม่ได้เหมือนเรื่องราวในรามเกียรติ์
ประเด็นแรก กล่าวถึงการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลซึ่งขอยืนยันว่า รัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลเดิมในปี 2557 เป็นการแต่งตั้งจากรัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐมนตรีถึง 32 คน เป็นคนใหม่
ประเด็นการขยายเพดานหนี้ ข้าวของแพง ค่าแรงถูก และเรามีการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจงให้ทุกคนเข้าใจ
สถานการณ์โควิดเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาทั้งหมดในเชิงโครงสร้าง ทั้งการแก้ไขมาตรการ กฎหมายต่าง ๆ ซึ่งวันนี้ไทยสามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอ และครบถ้วน จนไทยได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ
การท่องเที่ยว ได้มีการแก้ไขปัญหา และจะมีการชี้แจงต่อไป
ทั้งนี้ รัฐบาลนี้ ได้พัฒนาโครงสร้างในภาพรวมมามาก ซึ่งอยากทราบว่ารัฐบาลเก่าๆ ได้พัฒนาโครงสร้างที่เป็นประโยชน์กับประเทศบ้างหรือไม่
กรณีโรคอหิวาต์แอฟริกา ตอนนี้ นายกรัฐมนตรีเข้าไปแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูแล้ว พร้อมชี้แจง ไม่มีการปดปิด อย่างไรก็ดี มีคนเก็บกักเนื้อหมู รัฐบาลจะต้องนำคนผิดมาลงโทษ ทั้งนี้อาหารราคาสูง เป็นไปตามความต้องการของตลาด ตามฤดูกาล ซึ่งได้สั่งการให้มีการตรวจสอบต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและแก้ไขในทันที นายกรัฐมนตรีไม่เคยโทษใคร ขอให้ทุกคนมาร่วมมือกัน
เรื่อง PM 2.5 มีแนวทางการแก้ไข อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ รัฐบาลไม่ได้ทำงานสนองความพอใจเพียงคนบางกลุ่ม ประชาชนทุกคนมีรายได้ต่างกันจะทำอย่างไรให้ปรับตัวได้ ซึ่งรัฐบาลต้องดูแล นายกรัฐมนตรีต้องการให้ประชาชนทุกคนมีความสุข
ประมงล้มเหลว รัฐบาลต้องการสร้างความเป็นธรรมให้ประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน ไม่ให้เกิดผลกระทบ เยียวยา ต้องการปฏิรูปทั้งระบบ
การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น รัฐบาลพร้อมกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น มีรายได้เพียงพอ รัฐบาลพร้อมสนับสนุน หาเงินเติมให้ ไม่ได้หวงอำนาจ
ยาเสพติด หลายประเทศได้ชื่นชมการทำงานของไทย และเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการในทุกด่านการตรวจสอบ มีการจับกุมทุกวัน
บริหารทุจริต อย่าพูดประเด็นที่ไม่มีหลักฐาน นายกรัฐมนตรียืนยัน ไม่มีการทุจริต โดยเด็ดขาด ทั้งนโยบาย เจตนารมย์ และตัวนายกรัฐมนตรีเอง ทุกเรื่องที่มีการกล่าวหา จะมีการชี้แจงอย่างชัดเจน
นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ตั้งแต่ปี 2564 เกิดสถานการณ์โควิด และทุกประเทศก็ประสบปัญหาร่วมกัน โดยไทยสามารถฉีดวัคซีน เกินเป้าหมาย 100 ล้านโดส สำเร็จก่อนเป้าหมายที่วางไว้ และเป็นวัคซีนที่ได้รับอนุมัติ ทำให้ เศรษฐกิจไทย 9 เดือนแรกของปี 2564 พลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี เกินกว่าที่หลายฝ่ายคาดหมายประเทศรอบบ้านมีปัญหาไทยทำได้ดีกว่าหลายประเทศ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ลดจำนวนลูกหนี้ที่ต้องการขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย จาก 12.5 ล้านบัญชี เหลือต่ำกว่าครึ่ง หรือกว่า 6 ล้านบัญชี มีการจ้างงานมากขึ้น จำนวนผู้มีงานทำ 37.9 ล้านคน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3 ของปี 2564 นักศึกษาจบใหม่ ปี 2563 - 2564 ทำงานในภาคเอกชนกว่า 66.78% ทำงานในภาครัฐ 20% ส่วนที่เหลือประกอบอาชีพอิสระหรือธุรกิจส่วนตัว การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว มีการเปิดกิจการใหม่ในปี 2564 มากกว่าบริษัทที่ปิดกิจการ กว่า 4 เท่าตัว ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน สูงขึ้นกว่า 600,000 ล้านบาท ดีกว่าก่อนโควิด-19 การขอรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 2,339 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 7.7 แสนล้านบาท กระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ การส่งออกปี 2564 ดีขึ้นมาก มีมูลค่ารวม 8.5 ล้านล้านบาท ตัวอย่างการลงทุนที่สำคัญ Cloud Service โครงการผลิตอาหารสัตว์ชีวภาพ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีพบภาคเอกชน และรับทราบว่าเอกชนพอใจการปรับปรุงมาตรการของไทยเพื่อให้นักลงทุนมาลงทุน ไม่ใช้การเอื้อประโยชน์ หรือขายทรัพยากรชาติ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ตามข้อตกลง
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินการคลังของไทยจากทั้ง 3 สถาบันการจัดอันดับโลก ได้แก่ S&P Fitch Ratings และ Moody's ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ BBB+ และอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ภาคการเงินการคลังของไทยยังเข้มแข็ง และมีความน่าเชื่อถือในระดับสูง ถึงแม้มีการปรับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังตามกฎหมาย สำคัญที่สุด คือ การที่คนไทยได้มีความสุขในการฉลองปีใหม่ปี 2565 เป็นครั้งแรกในรอบ 24 เดือน ซึ่งมาตรการป้องกันทางสาธารณสุขต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ คำนึงถึงความสมดุลทางด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจควบคู่กัน
ด้านมาตรการสาธารณสุข ไทยเป็นอันดับที่ 5 ของโลก ในประเทศที่มีความมั่นคงทางสุขภาพ ดัชนี Global Health Security Index (GHS) ปี 2021 และประเทศไทยฟื้นตัวจากโควิด-19 เป็นอันดับ 2 ของโลก อันดับ 1 ของเอเชีย ปัญหาเงินเฟ้อ เกิดจากความต้องการที่มากขึ้นจากการฟื้นตัวของโลก ราคาพลังงานแพงขึ้นเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รัฐบาลพยายามเต็มที่ในการดูแลราคาปัจจัยการผลิตที่มีผลกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค มีการเตรียมการอย่างเป็นระบบและการสั่งการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ซึ่งในปี 2565 ไทยพร้อมเปิดประเทศอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมรับมือโควิด-19 หลายประเทศใช้ไทยเป็นตัวอย่าง ไทยเตรียมยา เตรียมวัคซีน และเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ มีแผนเผชิญหน้า แผนอนาคต เป็นการทำงานร่วมกัน ของทุกพรรค ในรัฐบาล รัฐบาลควบคู่กับการ “แก้หนี้ภาคครัวเรือน” สร้างงานสร้างอาชีพ มีการจัดทำโครงสร้างหนี้ เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครู หนี้ข้าราชการ มีการแก้ไขแล้ว และเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ ต้องครอบคลุมการเป็นหนี้ทุกแบบ การลดอุปรรคการเข้าถึงเงินทุน รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาทุกมิติ ทั้งนี้ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะชี้แจงต่อไป
รัฐบาลนี้ จะไม่มีความสุขหากประชาชนไม่มีความสุข จึงมีการจัดโครงการเพื่อประชาชน เยียวยาประชาชน เสริมชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน อาทิ โครงการคนละครึ่ง ทั้งนี้ ความสุขความพอใจอยู่ที่การบริหาร และงบประมาณที้มี ต้องทำควบคู่กันไป ทั้งนี้ หากมีโครงการไหน ที่ไม่ชอบ ขอให้ฝ่ายค้านพูดในสภาได้เลย
มาตรการทางสังคม สังคมไทยอ่อนไหว ต้องทำให้เข้มแข็ง ตอบสนอง อย่าให้สังคมอ่อนแอ ความรักความ สามัคคีเป็นสิ่งสำคัญ จากสถานการณ์ต่างประเทศ ชาติ ศาสนา พหุวัฒนธรรม สถาบันมีความแตกต่างกันในทุกประเทศ เราควรนำปัจจัยทุกอย่างในประเทศนำมาเสริมสร้างความสามัคคี ไม่ใช่ความแตกแยก นายกรัฐมนตรีห่วงกังวลความแตกแยกในสังคม แม้จะชินแล้วจากคำพูดที่หยาบคาย ความรุนแรง การฝ่าฝืนกฎหมาย และด่าทอเจ้าหน้าที่
แผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติต่อเนื่อง โมเดลเศรษฐกิจใหม่ “BCG” B คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) C คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) G คือ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เราจะไม่เพียงมองแค่การลด PM 2.5 ต้องมองไปถึงสังคมคาร์บอนต่ำ ขอให้พิจารณาตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ซึ่งเริ่มทำในรัฐบาลนี้ รวมทั้งรัฐบาลได้ผลักดัน การก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Carbon Neutrality และ Net Zero) พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมดิจิทัลระดับสูง การผลิตและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจระเบียงภาคตะวันออก: EEC
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงปัญหาน้ำมันรั่ว ปัญหา PM 2.5 มีส่วนที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ต้องทำงานร่วมกัน น้ำมันรั่วก็เป็นการดำเนินการด้วยการบูรณาการ ผิดต้องลงโทษ เยียวยา ประชาชน เป็นไปตามการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในทุกเรื่องจะมีการชี้แจงต่อไป ขอให้ใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริงในการชี้แจง ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันไม่โกรธ พร้อมแก้ไขปัญหา ตามที่มีข้อเสนอแนะมา หากเป็นเรื่องที่ดี