สธ. ร่วมมือ ดีเอสไอ กวาดล้างแก๊งอุ้มบุญข้ามชาติ ผลิตตัวอ่อนส่งนอกประเทศ ยกระดับเป็นคดีพิเศษคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี
วันนี้ (31 พฤษภาคม 2565) ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ
กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรม สบส. และ นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์
นพ.ธเรศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีลงนามฯว่า เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ นับเป็นหนึ่งในความหวังของคู่สามี ภรรยาที่ต้องการจะมีบุตรโดยชอบตามกฎหมาย แต่ด้วยความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมมีผู้ฉกฉวยโอกาสในการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์ในทางที่ผิด กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรากฎหมาย “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558” ขึ้น ด้วยเจตนารมณ์ในการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และควบคุมการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ไปใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม แต่ก็ยังมีผู้เห็นแก่ผลประโยชน์ ลักลอบนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ทางการแพทย์มาใช้ในทางที่ผิด โดยมิเกรงกลัวกฎหมาย ในบางคดีผู้กระทำความผิด มีการพัฒนารูปแบบ วิธีการ ทั้งในด้านกรรมวิธี มีการดำเนินการเป็นขบวนการโดยนำเทคนิคสมัยใหม่มาประกอบการกระทำความผิด จนทำให้เกิดความยากในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
ดังนั้น เพื่อป้องปราม และกวาดล้างการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งในบางครั้งผู้กระทำความผิดก็มิได้มีเพียงชาวไทยแต่มีชาวต่างชาติ หรือองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติร่วมกระทำความผิดด้วย กรม สบส.จึงร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ เพื่อยกระดับความร่วมมือในการปฏิบัติงานของคดีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ อย่างเช่น การรับจ้างตั้งครรภ์แทน หรือเรียกติดปากกันว่าอุ้มบุญ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันบูรณาการความร่วมมือในการสืบสวนคดี ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเข้าถึงข้อมูล ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเข้มข้น เกิดการป้องปราม กวาดล้างการกระทำผิดกฎหมาย ตัดตอนเส้นทางการเงิน และนำตัวผู้กระทำความผิดไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างชาติมาดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างถึงที่สุด
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวต่อว่า กรม สบส.ได้รวบรวมข้อมูลการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของประเทศไทย พบว่ามีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 45 มีการให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา การผสมเทียมกว่า 12,000 รอบ มีการพัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ผ่านการรับรองมาตรฐานการรวมทั้งสิ้น 104 แห่ง และมีการพิจารณาอนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน หรือที่เรียกว่า “อุ้มบุญ” แล้ว 584 ราย สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 4,500 ล้านบาท ซึ่งในปี 2565 ที่ประเทศไทยมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ คาดว่าจะมีผู้เดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์ในไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการยกระดับคดีที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ให้เป็นคดีพิเศษ จะส่งเสริมให้การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล อีกทั้ง สร้างความเชื่อมั่นถึงมาตรฐานทางการแพทย์ของไทยต่อผู้รับบริการทั้งไทยและต่างชาติด้วย
นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ดีเอสไอได้รับแจ้งจาก สบส. กว่า 10 คดี ในจำนวนนี้รับเป็นคดีพิเศษแล้ว 2 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน เบื้องต้นพบว่าทำเป็นกระบวนการ ตั้งแต่จ้างวาน ผู้ดำเนินการ ผู้สนับสนุน และผู้นำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจไปถึงการค้ามนุษย์ เพราะมีการผลิตเด็กเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพบมีการเอามาเลี้ยงเป็นตัวอ่อน ซึ่งมีทั้งการส่งน้ำเชื้อจากต่างแดนมาผสมและฝังตัวอ่อนในไทย ดูแลและคลอดในไทย ก่อนจะนำเด็กไปไว้ ณ ที่แห่งหนึ่ง เพื่อพร้อมส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งนี้ผู้จ้างงานเป็นชาวต่างชาติ และดำเนินการในต่างจังหวัด ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนให้ชัดเจนเพื่อดำเนินการเอาผิด และอยู่ระหว่างหารือร่วมกับสบส.ว่าอาจจะต้องมีการปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นปัญหาจะซุกใต้พรมตลอด
“กรณีนี้เกิดมาหลายปี และในภาวะที่เป็นโควิดก็ทำให้แม่ที่อุ้มบุญและต้องเดินทางไปต่างประเทศลำบาก เราจึงตรวจสอบได้ง่าย ตอนนี้เด็กคลอดมาแล้วเลี้ยงจนโตประมาณ 1-2 ขวบ ซึ่งอยู่ในการดูแลของเรา ผู้เกี่ยวข้องทุกคนจะมีโทษทางอาญา ทั้งปรับ และ จำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี เร็วๆ นี้ เราจะมีการแจ้งและเข้าไปจับกุมผู้กระทำผิด โดยจะแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด” นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ หากพบการกระทำผิดกฎหมายฯ อย่างรับจ้างตั้งครรภ์แทน โฆษณาเชิญชวนให้มีการอุ้มบุญ หรือซื้อขายไข่ อสุจิ สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 เพื่อติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป