สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จ่อ ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. อาจทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มเกือบ 5 บาทต่อหน่วย
วันนี้ (11 ก.ค.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณาทบทวน และปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) งวดเดือน ก.ย.- ธ.ค. 2565 โดยมีแนวโน้มพุ่งสูงถึง 90-100 สตางค์ต่อหน่วย และอาจทำให้ค่าไฟฟ้าต้องปรับเพิ่มสูงถึงเกือบ 5 บาทต่อหน่วยช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ.จะประกาศค่าเอฟทีงวดดังกล่าวอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนก.ค.หรือต้นเดือนหน้า
โดยค่าเอฟที สูงขึ้น เพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ยังมีแนวโน้มราคาแพงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน โดยราคาLNG นำเข้าตอนนี้พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนพุ่งสูงแตะระดับ 30 กว่าดอลลาร์ต่อล้านบีทียูแล้ว จากเดิมอยู่ที่ 20 กว่าดอลาร์ต่อล้านบีทียู รวมถึงภาระต้นทุนจากการอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยประมาณการค่าเฉลี่ยเดือนพ.ค. 2565 อยู่ที่ 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม
ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยยังขาดความชัดเจน ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับแทนประชาชนอีกกว่า 80,000 ล้านบาทในงวดก่อนหน้าที่ กกพ. อาจจะต้องเข้าไปดูแลช่วยลดภาระต้นทุนผ่านการทยอยปรับเพิ่มผ่านค่าเอฟทีด้วย โดยช่วงปลายสัปดาห์นี้ สำนักงานกกพ.จะต้องประชุมทบทวนอีกครั้ง เพื่อประกาศค่าเอฟที
ก่อนหน้านี้ สำนักงานกกพ.ได้เคยคาดการณ์ว่าสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติ อาจปรับตัวดีขึ้นได้บ้าง จากแนวโน้มราคาก๊าซที่ลดลงมาได้บ้างในไตรมาสนี้ แต่ขณะนี้ ก็ได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และน่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงฤดูหนาวปลายปี 2565 จนถึงต้นปีหน้า ดังนั้น หากให้ กฟผ.แบกรับภาระต้นทุนต่อโดยไม่มีการทยอยคืนให้ผ่านการปรับเพิ่มค่าเอฟที ก็อาจทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับค่าเอฟทีถึง 100,000 ล้านบาท ภายในปีนี้.
แหล่งข่าว กล่าวว่า อีกประเด็นที่หนักใจคือ ปัจจัยของความไม่แน่นอนจากปริมาณผลผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่ขาดช่วงระหว่างการเปลี่ยนผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำ และแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า จากเดิมมีปริมาณก๊าซจากแหล่งเอราวัณป้อนเข้าสู่ระบบได้ถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์ลิตรต่อวัน จนถึงขณะนี้ผู้รับสัมปทานก็ยังไม่สามารถแจ้งปริมาณที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อชดเชยก๊าซที่ขาดหายไปได้อย่างชัดเจน ทำให้การบริหารจัดการ และการวางแผนทำได้ยากมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ กกพ.ได้รับแจ้งเพียงว่า ระยะเวลาที่จะทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติกลับมามีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการในระดับเดิมก่อนเปลี่ยนสัมปทานอาจจะต้องใช้ระยะเวลาสำรวจ ขุดเจาะ ผลิตอีกประมาณ 2 ปี หมายความว่า ค่าไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงราคาแพงจากการนำเข้า LNG ทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวอีกอย่างน้อย 2 ปีเช่นกัน และคาดการณ์ได้ว่า ไทยจะเผชิญกับภาวะค่าไฟแพงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีนี้ และต่อเนื่องตลอดทั้ง 2566