กยศ.เปิดรายชื่อ 20 มหา’ลัยชำระหนี้ดีเด่น พร้อมเผยลูกหนี้เริ่มชะลอจ่ายหนี้เหตุรอ พ.ร.บ.สุดซอย ย้ำหากปรับเป็นปลอดดอกเบี้ยรัฐต้องประคองกองทุน
วันที่ 23 ก.ย. นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของผู้กู้ยืมในการจ่ายเงินคืนกยศ. เนื่องจากผู้กู้ยืมกำลังรอความชัดเจน พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาในสมาชิกวุฒิสภา ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ว่าจะมีการลดเบี้ยปรับและลดดอกเบี้ยกู้ยืมหรือไม่
โดยปัจจุบันการจ่ายหนี้กยศ. รับชำระหนี้ 2 ทาง คือ 1.การหักจากบัญชีลูกจ้าง ซึ่งเป็นการร่วมมือกับสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ในส่วนนี้ยอดไม่ลดลง และ2.การจ่ายหนี้ด้วยตัวเอง มีอัตราชำระลดลง จากเดิมมีการชำระหนี้วันละ 50 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลือเพียงวันละ 10 ล้านบาทเท่านั้น
ตามกฎหมายให้กยศ.เก็บเบี้ยปรับได้ไม่เกิน 1% และดอกเบี้ยไม่เกิน 2% แต่ปัจจุบันกยศ.เก็บทั้งดอกเบี้ยและเบี้ยปรับต่ำกว่ากฎหมายที่กำหนดไว้ จึงมองว่าดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่จัดเก็บในปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว ส่วนลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเนื่องจากผิดชำระหนี้ ปัจจุบันกยศ.ชะลอการฟ้องอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้เข้ามาทำการไกล่เกลี่ยแล้วจำนวน 1.4 แสนคน ดังนั้นจึงจะเปิดไกล่เกลี่ยหนี้ที่กยศ.ทุกแห่งเพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้ามาไกล่เกลี่ยหนี้ได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจุบันกลุ่มที่ผิดนัดชำระหนี้มีอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มยากจน 2.กลุ่มที่ขาดวินัยทางการเงิน และ3.กลุ่มที่ไม่มีจิตสำนึก เช่น มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารแต่ไม่ยอมจ่าย เป็นต้น
ส่วนปัจจุบันกยศ.มีทรัพย์สิน 3.7 แสนล้านบาท รับชำระหนี้อยู่ปีละ 3 หมื่นล้านบาท และปล่อยกู้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีรายได้จากเบี้ยปรับและดอกเบี้ยปีละ 3,000 ล้านบาท รวมเป็น 6,000 ล้านบาท สำหรับผลการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียน นักศึกษาได้รับอนุมัติให้กู้ยืมจำนวน 638,132 ราย รวมเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 38,879 ล้านบาท
ดังนั้นในอนาคตอีก 5 ปี ข้างหน้า(2566-2570) กยศ.มีรายจ่ายแน่นอนประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่รายรับนั้นได้ปีละ 3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่ง 5 ปี ก็จะมีรายรับอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท ส่วนกรณีที่ไม่มีดอกเบี้ยและถูกลดเบี้ยปรับนั้นจะทำให้กยศ.เสียรายได้ปีละ 6,000 ล้านบาท ดังนั้นหลังจากนี้จะต้องขอความร่วมมือให้ลูกหนี้มีวินัยในการจ่ายหนี้ หรืออาจขอใช้งบประมาณจากภาครัฐ เพื่ประคับประคองกองทุนต่อไป
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เปิดเผยว่า กองทุนได้จัดอันดับข้อมูลการชำระหนี้ของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน จำนวน 313 แห่ง พบว่ามีอัตราเงินต้นค้างชำระเฉลี่ย 61% และเมื่อพิจารณาจากสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีจำนวนผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้มากกว่า 2,000 ราย พบว่าสถานศึกษาที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรกส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุดเป็นอันดับแรก ได้แก่ มหาวิทยาลัยพะเยา และมีมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ติดอันดับคือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
โดยเรียงตามลำดับมหาวิทยาลัยที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด ดังนี้
- มหาวิทยาลัยพะเยา
- มหาวิทยาลัยศิลปากร
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
- มหาวิทยาลัยนเรศวร
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- มหาวิทยาลัยบูรพา
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
- มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
- มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
- สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
ทั้งนี้ สถานศึกษามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างวินัยและปลูกฝังความรับผิดชอบให้กับนักเรียน นักศึกษาที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ โดยกองทุนขอชื่นชมสถานศึกษาทุกแห่งที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานกองทุนและมีส่วนในการสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบให้แก่ผู้กู้ยืม จนทำให้กองทุนได้รับชำระเงินคืนกลับมาหมุนเวียนเพียงพอในการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง