ตำรวจสอบสวนกลางร่วม อย. ทลายเครือข่ายผลิต "ยาแก้ไอปลอม" รายใหญ่ พร้อมของกลาง 80 รายการ รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 70 ล้านบาท
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลงานจับกุมกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิตและขายยาแก้ไอปลอมรายใหญ่ เบื้องต้นมีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 3 ราย พร้อมตรวจยึดของกลางที่เกี่ยวข้องมากกว่า 80 รายการ มูลค่าความเสียหายประมาณ 70,000,000 บาท
สืบเนื่องจากบริษัท เดอะเบสท์ 2018 ฟาร์มาซูติคัล จำกัด ผู้จัดจำหน่ายยาแก้ไอยี่ห้อ Diphenyl (ไก่แดง) และ บริษัท แกรนด์ ฟาร์ม่า จำกัด ผู้จัดจำหน่ายยาแก้ไอยี่ห้อ Datissin (ฝาแดง) ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ให้ทำการสืบสวนกรณีมีผู้ผลิตยาแก้ไอปลอม ออกจำหน่ายตามร้านขายยาเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า มีแหล่งผลิต ยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Diphenyl รายใหญ่อยู่ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีจุดกระจายสินค้าอยู่ที่ จ.ภูเก็ต
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับ กก.5 บก.ป. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำหมายค้นเข้าตรวจค้นสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการจำหน่ายยาแก้ไอปลอม จำนวน 11 จุด ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 9 จุด และ จ.ภูเก็ต จำนวน 2 จุด ผลการตรวจค้น พบว่ากลุ่มผู้ต้องหาได้ต่อเติมบ้านพักอาศัยแล้วดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตยาแก้ไอปลอม อีกทั้งยังแบ่งแยกสถานที่เป็นหลายจุด เช่น จุดเก็บขวดเปล่า จุดผสมวัตถุดิบ
จุดบรรจุ จุดเก็บผลิตภัณฑ์ และจุดกระจายสินค้า เพื่อให้ยากแก่การสืบสวนติดตาม ผลการตรวจค้นสามารถจับกุมตัว นายเริงชัย (สงวนนามสกุล) ได้ที่โรงงานผลิตในพื้นที่ หมู่ 10 จ.นครศรีธรรมราช และได้ทำการตรวจยึดของกลางหลายรายการ ดังนี้
- ยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Diphenyl (ฝาไก่แดง) จำนวน 59,600 ขวด
- ยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Datissin (ฝาแดง) จำนวน 3,950 ขวด
- ยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ K-cough จำนวน 1,600 ขวด
- ยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ A-chlordyl จำนวน 1,600 ขวด
- ยาแก้ไอยี่ห้ออื่น ๆ (ของจริง) จำนวน 7,220 ขวด
- ขวดยาแก้ไอเปล่าที่รอการบรรจุ จำนวน 419,720 ขวด
- เครื่องตอกปิดฝา จำนวน 2 เครื่อง
- เครื่องบรรจุยา ขนาด 30 ลิตร จำนวน 2 เครื่อง
- เครื่องติดฉลาก จำนวน 3 เครื่อง
- เครื่องปั๊มลม จำนวน 2 เครื่อง
- ถังผสมยาแก้ไอ ขนาด 200 ลิตร จำนวน 4 ถัง
- ส่วนผสมและวัตถุดิบ พร้อมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิต จำนวนหลายรายการ
อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ทำการจับกุมตัว นายอนุพงษ์ (สงวนนามสกุล) ที่โรงงานผลิตในพื้นที่ หมู่ 10 จ.นครศรีธรรมราช ในข้อหา “ครอบครอบอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต” พร้อมด้วยของกลาง อาวุธปืนพกสั้น ยี่ห้อ SIG SAUER ขนาด 9 มม. จำนวน 1 กระบอก พร้อมด้วยกระสุนปืน จำนวน 44 นัด
ส่วนที่ จ.ภูเก็ต (จุดกระจายสินค้า) ผลการตรวจค้นพบ ยาแก้ไอยี่ห้อต่าง ๆ (ของจริง) จำนวน 11,400 ขวด, กล่องบรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง
จากการซักถาม นายเริงชัยฯ ให้การว่า ตนมีหน้าที่ควบคุมดูแลการผลิตยาแก้ไอปลอม โดยมีนายภพ (สงวนนามสกุล) และ น.ส.ชญาภา (สงวนนามสกุล) สองสามีภรรยาเป็นเจ้าของโรงงาน และมีนายสุนันท์ ลูกน้องคนสนิทของนายภพฯ เป็นผู้ดูแลด้านการเงินและการจัดจำหน่าย โดยนายเริงชัยฯ ยังให้การเพิ่มเติมอีกว่า ตนได้ร่วมกับ นายภพฯ, น.ส.ชญาภาฯ และนายสุนันท์ฯ ทำการผลิตและจำหน่ายยาไอปลอมตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 โดยเริ่มต้นได้ผลิตยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Datissin (ฝาแดง) ต่อมาเมื่อประมาณต้นปีพ.ศ.2565 ได้เปลี่ยนมาผลิตยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ Diphenyl (ไก่แดง) แทน ส่วนยาแก้ไอปลอมยี่ห้อ K-cough และยี่ห้อ A-chlordyl นายภพฯ ได้ซื้อมาจากบุคคลอื่น (อยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลต่อไป)
รวมตรวจค้น 11 จุด มีการตรวจยึดของกลางเป็นยาแก้ไอปลอม 66,750 ขวด, ยาแก้ไอยี่ห้ออื่นๆ (ของจริง) จำนวน 18,600 ขวด, ผลิตภัณฑ์ยาอื่น ๆ, วัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาแก้ไอปลอม เครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงพยานหลักฐานอื่น ๆ ในคดี จำนวนมากกว่า 80 รายการ มูลค่าความเสียหายประมาณ 70 ล้านบาท และได้ทำการจับกุมตัว นายเริงชัยฯ ได้ที่โรงงานผลิตในพื้นที่ หมู่ 10 จ.นครศรีธรรมราช ส่วนนายภพฯ และ น.ส.ชญาภาฯ ได้เชิญตัวมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยเบื้องต้นการกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฐาน “ร่วมกันผลิตและขายยาปลอม ตามมาตรา 72(1) ระวางโทษ จำคุกตั้งแต่สามปีถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าหมื่นบาท” และ “ร่วมกันผลิตและขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 12 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท” โดยผู้ต้องหาทั้ง 3 รายให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา อนึ่ง นาย สุนันท์ฯ ผู้ต้องหารายสุดท้าย ได้ติดต่อพนักงานสอบสวนเพื่อมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว
จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า แหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตยาผลิตยาแก้ไอปลอมของนายภพฯ มีการสั่งซื้อน้ำเชื่อมกลูโคส (สารให้ความหวานแทนน้ำตาล), กลิ่นราสเบอรี่ เฟเวอร์ และมีการสั่งผลิตฉลากปลอมจากบริษัทต่าง ๆ ในพื้นที่ กทม. อีกทั้งยังพบว่า ได้มีการจำหน่ายยาแก้ไอปลอมดังกล่าวไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น กทม., ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, นครปฐม, สมุทรสาคร, ภูเก็ต, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี โดยตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ถึงปัจจุบัน เครือข่ายการผลิตยาแก้ไอปลอมของนายภพฯ มีรายได้จากการจำหน่ายยาแก้ไอปลอมมากกว่า 80 ล้านบาท
ภก. วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การดำเนินการในครั้งนี้ต้องขอขอบคุณ บก.ปคบ. ที่ได้ช่วย อย. สืบสวนจนสามารถจับกุมเครือข่ายลักลอบผลิตยาน้ำแก้ไอปลอมในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช พบการผลิตยาน้ำแก้ไอปลอมหลายยี่ห้อ เป็นเครือข่ายที่ลักลอบผลิตยาปลอมและจำหน่ายยาดังกล่าวให้ร้านขายยาในหลายจังหวัด สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ พี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากการซื้อและบริโภคยาที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ ไม่สามารถรักษาโรคได้ และอาจได้รับอันตรายจากการบริโภค และยาบางส่วนจำหน่ายให้กับกลุ่มบุคคลที่ต้องการไปใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มที่ทำให้มึนเมาในนาม "สี่คูณร้อย" อย. และ สสจ. ทั่วประเทศจะร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. เฝ้าระวังและจับกุมผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัดต่อไป ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ Email:1556 @fda.moph.go.th ตู้ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ยาเป็นปัจจัย 4 ที่ประชาชนจะใช้รักษาเยียวยาเมื่อป่วยไข้อันดับแรก และส่งผลโดยตรงกับสุขภาพของประชาชน หากรับประทานยาปลอมที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล ไม่หาย และอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต ผู้ผลิตและขายยาจะต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่ายาที่ผลิตมาสู่ท้องตลาดมีมาตรฐาน และรักษาโรคได้จริง บก.ปคบ.จะดำเนินกวดขันจับกุมผู้ผลิตและขายยาปลอม รวมถึงกวาดล้างผู้ที่ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถึงที่สุด โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค