'ฝ่ายค้าน' ผนึกกำลังเปิดยุทธการ 'เปิดหน้ากากคนดี' ซักฟอกรัฐบาลก่อนหมดวาระ แม้ไม่มีลงมติแต่ขอ ปชช.ตัดสินวันเลือกตั้ง
วันที่ 28 ธ.ค. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ นายนิคม บุญวิเศษหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นายวิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ รวมถึงนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ในฐานะฝ่ายค้านอิสระ ร่วมเข้าชื่อเสนอญัตติต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152
นพ.ชลน่าน เปิดเผยภาพรวมเนื้อหาสาระว่า เนื่องจากเป็นปีสุดท้าย จึงครอบคลุมทุกมิติ ตามกรอบนโยบาย เร่งด่วน12 ด้านที่ไม่เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา ถือเป็นความล้มเหลว และเป็นคำถามทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางการเมือง ทางสิ่งแวดล้อม และทางเทคโนโลยี
“เราจะถอดให้ทุกท่านเห็นว่า ‘คนดี’ ที่ใส่หน้ากากให้เราเห็นมา 4 ปี หรือนับย้อนหลังไป 8 ปี อ้างว่าเป็นคนดีเข้ามาแก้ปัญหาโดยยื้อแย่งอำนาจมาจากประชาชน เมื่อเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้วเป็นอย่างไร เนื้อแท้คนดีเป็นอย่างไร ผลงานคนดีเป็นอย่างไร หลายเรื่องเราเตรียมไว้หมด เจาะลึกทุกประเด็น ข้อคำถามชัดเจนแจ่มชัด” ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าว
นพ.ชลน่าน ยังกล่าวว่า โดยเนื้อหาสาระไม่แตกต่างจากการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ที่ผ่านมา แต่จะเป็นข้อคำถามโดยไม่มีการลงมติ ซึ่งจะอภิปรายถึงภาพรวมของคณะรัฐมนตรี แต่สมาชิกสามารถเจาะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นและตรวจสอบดูในปีสุดท้ายนี้ว่า คนดีที่แท้จริงเป็นอย่างไร ก่อนตัดสินใจในการเลือกตั้งใหญ่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการอภิปรายไปถึงรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหรือไม่ นพ.ชลน่าน ตอบว่า ขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระที่สมาชิกเตรียมไว้นำเสนอในกรอบของญัตติที่กำหนดไว้ หากเกี่ยวกับผู้ใด ก็เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีท่านนั้นจะมาตอบ
ส่วนที่มีกระแสว่าจะละเว้นการอภิปราย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐนั้น นพ.ชลน่าน ชี้แจงว่า เนื้อหาของญัตติเขียนไว้ครอบคลุมถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐมนตรีท่านนี้ด้วย
แต่สำหรับตัว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น นพ.ชลน่าน เปิดเผยว่าพรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นตรงกันว่าเป็นจำเลยหมายเลข 1 แม้พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่อยากเป็นเครื่องซักล้างให้ใครแต่เราจำเป็นต้องล้างสิ่งที่แปดเปื้อนออกไปจากระบบรัฐสภา ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และโอกาสของประชาชน
นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน ยังมองว่า วัตถุประสงค์ของญัตติครั้งนี้ แม้ไม่มีการอภิปรายในสภาฯ แต่เราหวังให้พี่น้องประชาชนร่วมลงคะแนนตัดสินว่ารัฐบาลชุดนี้ ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ มีอะไรให้ประชาชนไว้วางใจให้สืบทอดอำนาจต่อไปหรือไม่ และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำเสนอนี้ มีอะไรที่ประชาชนจะไว้ใจมาทำหน้าที่แทนประชาชนหรือไม่ เราต้องเน้นให้เห็นชัดว่า “เขาเป็นอย่างไร และพวกเราเป็นอย่างไร”
ด้านนายพิธา ยังเปิดเผยในมุมพรรคก้าวไกลว่า พรรคก้าวไกลเตรียมตัวเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้วิธีการจะไม่เหมือนกัน แต่จะเป็นการตรวจการบ้านและถอดหน้ากากคนดีของรัฐบาลตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อนำข้อเท็จจริงออกมาให้ประชาชน และการอภิปรายครั้งนี้เป็นโค้งสุดท้ายของสภาฯ
“แม้ ส.ส. จะโหวตไม่ได้ แต่ปีนี้ประชาชนโหวตได้ เพราะฉะนั้น การทำงาน 152 ของเรายังทำงานหนัก ให้ประชาชนโหวตแทน ส.ส. ในครั้งนี้” หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าว
ผู้สื่อข่าวยังสอบถามถึงโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ภายหลังคืนวานนี้ (27 ธ.ค. 65) พรรคก้าวไกลประกาศจุดยืนว่าจะไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ นพ.ชลน่าน ตอบว่าเป็นการตัดสินหลังจากมีการเลือกตั้ง หากพรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับมอบหมายอำนาจมาจากพี่น้องประชาชน นั่นคือเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด
“เรามั่นใจว่าพวกเราทำงานด้วยกันได้อยู่แล้ว” ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าว
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน ในฐานะเป็นฝ่ายประชาธิปไตย มั่นใจว่าจะทำหน้าที่แทนประชาชนให้สมบูรณ์ที่สุด ให้ประชาชนได้ข้อมูลที่ดีที่สุด และหวังว่าจะได้รับโอกาสจากประชาชน
ขณะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นญัตติจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน พร้อมเปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายสุทิน คลังแสงประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน ว่าน่าจะอภิปรายได้ในช่วงหลังกลางเดือนหรือปลายเดือน ม.ค. 66 ซึ่งจะต้องหารือกับฝ่ายรัฐบาลด้วยว่าพร้อมตรงไหน
“ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ว่ากลาย ๆ เพียงแต่ไม่ต้องลงมติ จะเป็นประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายนอกจากฝ่ายค้านจะมีข้อมูลแล้ว ฝ่ายรัฐบาลก็มีโอกาสชี้แจงด้วย หากมองในมุมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย สภาฯ ก็จะเตรียมการในเวลาที่เหลืออยู่” ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าว