ย้อนดู สถิติ “ยุบสภา” ของประเทศไทย 15 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2481 จวบจน 2566 สืบเนื่องจากเหตุผลต่างๆ ทางการเมืองของเหล่าอดีตนายกฯ
สืบเนื่องจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566
ทีมข่าว “อมรินทร์ทีวี ออนไลน์” จะพาคุณผู้อ่าน ย้อนรอยสถิติการ “ยุบสภา” ของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2481-2566 ดังนี้
ครั้งที่ 1 วันที่ 11 ก.ย. 2481 ในรัฐบาล พันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลขัดแย้งกับสภา เกี่ยวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ
ครั้งที่ 2 วันที่ 14 ต.ค. 2488 ในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสภายืดอายุ หลังจากได้มี พ.ร.บ.ขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ครั้ง เนื่องจากไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งในระหว่างสงครามขณะนั้นได้ ทำให้ ส.ส.ชุดดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งนานเกินควร
ครั้งที่ 3 วันที่ 16 ธ.ค. 2516 ในรัฐบาล นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสมาชิกสภานิติบัญญัติลาออก เหลือ 11 คน จนไม่สามารถทำหน้าที่ของสภาได้
ครั้งที่ 4 วันที่ 12 ม.ค. 2519 ในรัฐบาล ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดปัญหาความแตกแยก และขัดแย้งอย่างรุนแรงในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลผสม อันเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน
ครั้งที่ 5 วันที่ 19 มี.ค. 2526 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ครั้งที่ 6 วันที่ 1 พ.ค. 2529 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลขัดแย้งกับสภา กรณีการออก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522
ครั้งที่ 7 วันที่ 29 เม.ย. 2531 ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาล ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาล ส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน
ครั้งที่ 8 วันที่ 30 มิ.ย. 2535 ในรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อยุบสภา ภายหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเดือน พ.ค.2535
ครั้งที่ 9 วันที่ 19 พ.ค. 2538 ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล จนไม่สามารถดำเนินการในทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ ประกอบกับมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01)
ครั้งที่ 10 วันที่ 29 ก.ย. 2539 ในรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล ภายหลังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย. 2539 โดยฝ่ายค้านเน้นอภิปรายที่ตัวนายบรรหาร เรื่องประเด็นสัญชาติ เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลมีมติร่วมกันว่าจะขอให้นายบรรหาร ศิลปอาซา ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายบรรหารประกาศจะลาออกภายใน 7 วัน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นนายกฯ ก่อนจะเปลี่ยนใจประกาศยุบสภาในท้ายที่สุด
ครั้งที่ 11 วันที่ 9 พ.ย. 2543 ในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปฏิบัติภารกิจสำคัญแล้วเสร็จหรือลุล่วงลง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540
ครั้งที่ 12 วันที่ 24 ก.พ. 2549 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการขับไล่นายกรัฐมนตรี จากข้อเรียกร้องในทางการเมือง และได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ถึงแม้รัฐบาลขณะนั้นได้เปิดให้มีการอภิปรายโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมสภา ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล
ครั้งที่ 13 วันที่ 10 พ.ค. 2554 ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการขับไล่นายกรัฐมนตรี ประกอบกับรัฐสภาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550 ไปเรียบร้อยแล้ว
ครั้งที่ 14 วันที่ 9 ธ.ค. 2556 ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการคัดค้านการออกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในปี 2556
และครั้งที่ 15 วันที่ 20 มี.ค. 2566 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลใกล้ครบวาระการดำรงตำแหน่ง