ก.ต่างประเทศ ประสาน 3 หน่วยงาน ร่วมจัดเลือกตั้งนอกประเทศ ใช้ระบบเรียลไทม์ติดตามส่งบัตรกลับไทย มั่นใจเลือกตั้งราบรื่น ไม่ซ้ำรอย 4 ปีที่แล้ว
วันที่ 23 มี.ค. 66 ที่กระทรวงการต่างประเทศ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงถึงการเตรียมจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ พ.ร.ฎ.ยุบสภา เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 66 รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทยขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 66
กระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ไทยที่ประจำการในต่างประเทศ มีหน้าที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องจัดขึ้นก่อนวันเลือกตั้งในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยสถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ไทย จะกำหนดวันใช้สิทธิเลือกตั้งและรูปแบบในการเลือกตั้งที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ต่อไป เพราะต้องพิจารณาเรื่องที่ตั้งของชุมชนคนไทยและความสะดวกในการเดินทางของคนไทยด้วย
นางกาญจนา กล่าวต่อว่า ตามระเบียบ กกต. ข้อที่ 17 ระบุว่าให้เอกอัครราชทูตไทยต้องกำหนดวัน เวลา วิธีการออกเสียง และสถานที่ลงคะแนน ภายใน 10 วันนับตั้งแต่ พ.ร.ฎ.ยุบสภา มีผลบังคับใช้ ดังนั้นเอกอัครราชทูตไทยต้องประกาศข้อมูลข้างต้นภายในวันที่ 29 มี.ค. 66 และคาดว่าในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อเตรียมจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยมีการประชุมคณะทำงานเตรียมการดังกล่าวซึ่งมีอธิบดีกรมการกงสุลเป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานอื่นๆ ภายในกระทรวงฯ เข้าร่วมด้วย รวมทั้งได้จัดอบรมบุคลากรสำหรับการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งดังกล่าวด้วย และได้มีการประชุมร่วม 4 ฝ่าย ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ กกต. กระทรวงมหาดไทย และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือถึงกฎระเบียบ วัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ การพัฒนาระบบลงทะเบียน และการจัดส่งบัตรเลือกตั้ง
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนาระบบเฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถติดตามสถานะการดำเนินงานของจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของสถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลใหญ่ไทยได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะมีการแสดงสถานะข้อมูลต่างๆ ในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร อาทิ การไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งของประชาชน การส่งบัตรลงคะแนนผ่านทางถุงเมล์ทางการทูตกลับสู่ประเทศไทย โดยระบบเรียลไทม์นี้จะไม่ทำให้เกิดปัญหาบัตรลงคะแนนตกหล่นเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ดังนั้นจากการเตรียมการต่างๆ ขอให้ทุกคนมั่นใจได้ว่าทางกระทรวงดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น และโปร่งใส
“การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรไม่ใช่เรื่องง่าย จึงอยากเชิญชวนให้คนไทยในต่างประเทศลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่ามีคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศจำนวนมาก มักไม่ไปลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยบางพื้นที่มีคนไทยอยู่เป็นหลักหมื่น แต่มีจำนวนคนที่มาลงทะเบียนดังกล่าวอยู่ในหลักพันคน” นางกาญจนา กล่าว