ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. แต่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะเสียสิทธิอะไรบ้าง หากไม่ว่างสามารถแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิต้องำอย่างไร
14 พฤษภาคม 2566 เวลา 08.00-17.00 น. รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เข้าคูหากากบาท แบบแบ่งเขตฯ เลือกคนที่รัก แบบบัญชีฯเลือกพรรคที่ชอบ เพื่อเลือก ส.ส. ซึ่งเป็นเหมือนผู้แทนของประชาชนในการปกป้องผลประโยชน์และดูแลทุกข์สุขของประเทศและการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกผู้แทน เข้ามาเป็น ส.ส. ที่ทำหน้าที่บริหารประเทศแทนเรา
สำหรับผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส. แต่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เสียสิทธิอะไรบ้าง ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้
- ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.
- ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.
- ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
- ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
- ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้การจำกัดสิทธิทั้ง 5 ข้อ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก ให้เริ่มนับเวลาจำกัดสิทธิ 2 ปีใหม่
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- มีสัญชาติไทย หรือ หากเคยแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
- อายุไม่ตํ่ากว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
- มีชื่อ อยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง
ลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
- อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง
- ต้องคุมขังโดยหมายของศาล หรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย