เปิดรายละเอียด MOUก้าวไกล หลัง 8 พรรคการเมืองร่วมลงนาม มีหนึ่งข้อถูกแก้ไข เพิ่มใหม่ 1 ข้อสมรสเท่าเทียม รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังอยู่
วันที่ 22 พ.ค.66 ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ ที่ห้องบอลรูม โดย พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย 7 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ได้ลงนาม ข้อตกลงร่วม MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล
โดย รายละเอียดของการลงนามร่วม MOU ได้มีการเปลี่ยนแปลงในข้อที่ 2 ซึ่งมีการแก้ไขรายละเอียดจากเดิมคือ อำนวยความยุติธรรม ในคดีการแสดงออกทางการเมือง ผ่านกลไกรัฐสภา ถูกแก้ไขเป็น ยกระดับระบบสาธารณะสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ เข้ามาเป็นข้อที่ 20 ในการทำข้อตกลฃงร่วมรัฐบาลในครั้งนี้แทน
สำหรับ MOU ที่มีการลงนามร่วมกัน ระหว่าง 8 พรรคการเมือง “ก้าวไกล-เพื่อไทย-ประชาชาติ-ไทยสร้างไทย-เสรีรวมไทย-เพื่อไทยรวมพลัง-เป็นธรรม –พลังสังคมใหม่” มีดังนี้
1. ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
2. ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ
3. ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยึดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
4. เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งการเกณฑ์ทหารยามศึกสงคราม
5. ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง
6. ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต
7. แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน
8. ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม
9. ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งการอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
10. ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิในการไม่เห็นด้วยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลด้านศาสนา)
11. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมแก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
12. ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
13. จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)
14. สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว
15. แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน
16. นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษผ่านการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา
17. ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย ลดต้นทุนการผสิต เพิ่มการเข้าถึงตลาด เทคโนโลยี และแหล่งน้ำสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
18. แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน
19. ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
20. ยกระดับระบบสาธารณสุขเพื่อทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพทั้งการส่งเสริม การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ
21. ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
22. สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด
23. ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศตามกรอบความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือพหุภาคี รวมถึงรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ