เอกชนตรัง ยื่นหมูยื่นแมว ค่าแรงทันที 450 ปลดคนงาน รัฐบาลใหม่จ่ายชดเชย

1 มิ.ย. 66

เอกชนตรัง ขู่! เสนอรัฐบาลใหม่จะปรับขึ้นค่าแรงทันที 450 บาท ปลดคนงาน รัฐบาลใหม่จ่ายชดเชย ท้องให้ออก หากแก้กฎหมายเพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน

เอกชนตรัง ขู่! เสนอรัฐบาลใหม่จะปรับขึ้นค่าแรงทันที 450 บาท เอกชนพร้อมทำตามนโยบายแต่เป็นภาระที่หนักมาก สู้ไม่ไหว โดยหารือกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรังแล้ว และยื่นเรื่องไปยังสภาอุตสาหกรรมกลุ่มภาคใต้อันดามัน และจะเสนอต่อสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับข้อเสนอยื่นหมูยื่นแมว ผู้ประกอบการเตรียมปลดคนงาน รัฐจ่ายเงินชดเชยทั้งหมด และกฎหมายลาคลอดหากเพิ่มเป็น 180 วัน คงต้องให้พนักงานหญิงท้องลาออก กลับเข้าทำงานอีกครั้งหลังคลอด รัฐบาลจะออกนโยบายอะไร จะต้องคิดให้รอบคอบ หากเพิ่มภาระให้เอกชนได้ ก็ต้องลดภาระให้ได้เช่นกัน

นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) TRS ซึ่งผลิตอาหารทะเลแช่แข็งทุกรูปแบบ ส่งออกไปประเทศ จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ที่มีความต้องการบริโภคอาหารแช่แข็ง ทั้งแบบพร้อมบริโภคและนำไปปรุงอีกครั้ง และเป็นที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง บอกว่า จากนโยบายว่าที่รัฐบาลพรรคก้าวไกล ประกาศขึ้นค่าแรงทันที 450 บาท ถึงตอนนั้นหากรัฐบาลมีนโยบายลงมาแบบนี้ ผู้ประกอบการก็หลีกเลี่ยงไม่ได้จำเป็นต้องปฏิบัติตาม

แต่เงินดังกล่าวผู้ประกอบการเป็นคนออกทั้งหมด รัฐไม่ได้เป็นคนออก ดังนั้น รัฐควรมีมาตรการอะไรบางอย่างออกมาช่วยผู้ประกอบการด้วย ไม่ใช่ให้ผู้ประกอบการจ่ายฝ่ายเดียว เพราะการเพิ่มจากวันละ 300 กว่าบาท (จ.ตรัง ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 315 บาท) เป็น 450 บาท เท่ากับจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น 45% เช่น ของตนมีคนงานทั้งหมดกว่า 2,000 คน จ่ายค่าแรงเดือนละกว่า 15 ล้านบาท ปีละกว่า 180 ล้านบาท ต้องจ่ายค่าแรงอัตราใหม่เป็นเดือนละ 21 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเดือนละ 6 ล้านบาท ค่าแรงปีละ 252 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมปีละ 72 ล้านบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าต้นทุนสูงขึ้นขนาดนี้ คงต้องปรับลดพนักงานเพื่อรักษาองค์กร พร้อมกับมีข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ หากปรับขึ้นทันที 450 บาท ผู้ประกอบการยินดีทำให้ แต่คงมีการปลดพนักงาน จึงขอแลกเปลี่ยนกัน รัฐบาลใหม่จะต้องแก้ไขกฎหมาย หรือแก้ไขระเบียบหรือคำสั่งอะไรก็ได้ ให้กองทุนทดแทนหรือประกันสังคมเป็นผู้จ่ายเงินชดเชยพนักงานที่ปลดออกไปทั้งหมด ทั้ง 14 เดือน เพื่อช่วยผู้ประกอบ ซึ่งในการปรับลดพนักงานอาจต้องปรับลดไปถึง 20% ของพนักงาน เพื่อให้องค์กรอยู่ได้

นอกจากนั้นในส่วนของพนักงานที่ลาคลอด เดิมให้ลาคลอดได้ 45 วัน ผู้ประกอบการจ่ายเงินเดือนเต็ม ผู้ประกอบการก็ยินยอม แต่ถ้าเพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วัน ในส่วนของข้าราชการคงไม่มีปัญหาอะไร รัฐจ่ายได้ แต่เอกชนในเมื่อพนักงานส่วนนี้หยุดไป ก็ต้องจ้างพนักงานชดเชยก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม พอครบ 180 วัน ก็กลับมาทำงาน ก็เท่ากับพนักงานที่เข้ามาทำแทนจะเอาไปไหน

ดังนั้น ในอนาคตข้างหน้าถ้ากฎหมายฉบับนี้เพิ่มขึ้นมา ทางผู้ประกอบการก็มีข้อเสนอคงต้องทำ MOU กับพนักงานหญิงว่า ถ้าคุณท้องก็ขอให้ลาออกไปก่อนเลย เสร็จเรียบร้อยค่อยกลับมาทำงาน ทางผู้ประกอบการก็รับต่อ ซึ่งก็เท่ากับผลักคนเก่าออก รับคนใหม่เข้ามา

รัฐบาลต้องคิดให้ดี ในการแก้ไขปัญหาและมีมาตรการรองรับ และอีกปัญหาคือ ค่าไฟฟ้า ที่เพิ่มรอบนี้ไม่ใช่ความผิดของเอกชน แต่เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลที่ทำสัญญากับเอกชนที่ทำให้การสำรองไฟฟ้าเกินความพอดีไปสูงถึง 48% ไม่ใช่ความผิดของผู้ประกอบการเลย แต่มาคิดกับผู้ประกอบการ เรื่องนี้รัฐบาลต้องไปแก้ ดังนั้น นโยบายที่จะออกเมื่อมาเพิ่มภาระผู้ประกอบการ ก็ต้องหามาตรการลดภาระให้ผู้ประกอบการด้วย

อยากถามว่ารัฐบาลใหม่จะกล้าหรือไม่ ซึ่งข้อเสนอแนะดังกล่าวได้หารือร่วมกันกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรังแล้ว และยื่นเรื่องไปยังสภาอุตสาหกรรมกลุ่มภาคใต้อันดามัน และจะเสนอต่อสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับข้อเสนอดังกล่าว ไม่ทราบว่าทางรัฐบาลใหม่จะว่าอย่างไร ก็ต้องรอคำตอบ เพราะรัฐบาลเป็นฝ่ายออกกฎหมาย ในเมื่อสั่งให้ผู้ประกอบการเพิ่ม ทางรัฐก็ต้องช่วยผู้ประกอบการลดภาระได้ด้วยเช่นกัน

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส