ถอดรหัส เครื่องมือใหม่ งบประมาณฐานศูนย์ ผ่านมือ “ดร.ยุ้ย เกษรา”

5 ก.ค. 66

ถอดรหัส งบประมาณฐานศูนย์ ผ่านมือ “ดร.ยุ้ย เกษรา” เครื่องมือใหม่พัฒนาเมือง เชื่อแก้ปัญหาตรงจุด หยุดใช้งบประมาณซ้ำซ้อน 

วันที่ 5 ก.ค. 66 การปรับโครงสร้างการบริหารงานประเทศกำลังเป็นกระแสสังคมในขณะนี้ที่ทำให้วงการทางวิชาการ วงการราชการ หรือแม้แต่นักการเมืองตื่นตัว โดยเฉพาะแนวคิดการจัดทำงบประมาณระดับชาติ จะเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นการ “จัดทำงบประมาณฐานศูนย์” หรือ ZERO BASE BUDGETING (ZBB) 

ภายใต้การนำของนาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่บริหารภายใต้การขับเคลื่อนนโยบาย 216 ข้อ และหนึ่งในนั้น เป็นเรื่องการจัดทำงบประมาณใหม่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ที่นำทีมขับเคลื่อน 

โดย ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมที่ปรึกษายุทธศาสตร์ กล่าวว่า ได้ริเริ่มนำหลักการดังกล่าวมาใช้เริ่มจากการให้ความรู้หน่วยงานภายใน กทม. และสำนักงานเขตต่างๆ เพื่อให้เข้าใจถึงหลักการทำงบประมาณฐานศูนย์ ก่อนที่จะเริ่มทดลองใช้จริงในบางหน่วยงาน เพื่อประเมิณผลดีผลเสีย ก่อนใช้จริงในปี 2568 

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมที่ปรึกษายุทธศาสตร์

“การจัดทำงบ ZBB เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และมีประสิทธิภาพ เดิมที่ตั้งงบประมาณแต่ละปี โดยใช้ฐานการใช้งบจากปีที่ผ่านมา และเพิ่มตัวแปรในส่วนที่คิดว่าจะใช้เข้าไป แต่ ZBB จะเป็นการจัดสรรงบประมาณจากความจำเป็นของโครงการ หรือกิจกรรมจริงๆ แนวทางนี้ได้ประสบความสำเร็จในสหรัฐมาแล้ว” 

ผศ.ดร.เกษรา กล่าวอีกว่า ก่อนที่จะใช้ ZBB จริง ต้องทำความเข้าใจกับข้าราชการก่อน จึงได้ติวเข้มข้าราชการ กทม. และตัวแทนเจ้าหน้าที่เขต 50 เขต และสำนักงานต่างๆ ไปแล้ว เพื่อที่จะได้นำ ZBB ไปใช้ในการดำเนินงานควบคู่กับการใช้ OKRs-Objective and key results  หรือ การตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดรูปแบบใหม่แทนดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ด้วย ดังนั้นการจัดทำงบประมาณ กทม.ปี 2567 ถือเป็นปีแรกที่มีการรื้อสร้าง การคิดงบประมาณใหม่ภายใต้แนวคิด ZBB ด้วยการปรับทุกอย่างให้เป็นศูนย์ พร้อมทั้งนำโครงการเก่ามาพิจารณาว่าคุ้มหรือไม่ที่จะไปต่อ และปี 2568 จะเป็น ZBB ให้ครอบคลุมทั้งหมดควบคู่กับการใช้ OKRs   

“แม้ว่าการขับเคลื่อน ZBB ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้บุคลากรที่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของประชาชน แต่ด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีของสำนักงบประมาณและข้าราชการ กทม. จึงทำให้มีการเริ่มต้นดำเนินการในส่วนของงบประมาณเขตได้และเชื่อว่าจากนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ครอบคลุมมากขึ้นในที่สุด งบประมาณที่ดี จะเป็นรากฐานให้เรามีทางเลือกในการทำงานที่ดีได้ โดยมีการใช้งบฯให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำ กทม. ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ของทุกคน ดังนั้นการทำงบประมาณฐานศูนย์ จะเป็นบริบทใหม่ในการพัฒนาเมือง จากพื้นที่ กทม.สู่ระดับชาติ ได้มากน้อยแค่ไหน ก็ต้องรอดูผลงาน กทม.จะพิสูจน์ให้ทุกภาคส่วนเห็นประโยชน์ และคุณค่าที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดในอดีตนั้นหมดไปและประชาชนพอใจกับประโยชน์ที่ได้รับ” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส