ย้อนที่มา สมาชิกวุฒิสภา กับอำนาจ มาตรา 272 นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 30

14 ก.ค. 66

ย้อนที่มา สมาชิกวุฒิสภา กับอำนาจพิเศษ มาตรา 272 โหวตนายกรัฐมนตรี หลัง “พิธา” ยังไปไม่ถึงฝัน นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 30 

วันที่ 14 ก.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผ่านไปแล้วสำหรับการ โหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งก็ทำให้นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังไปไม่ถึงฝัน ในตำแหน่ง  นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 30 เนื่องด้วยเสียงโหวตของสมาชิกรัฐสภาได้ไม่เกินกึ่งหนึ่ง ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยเฉพาะเสียงของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 

หากย้อนดูที่มา สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แล้ว ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน และ สมาชิกวุฒิสภา 200 คน แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศในระยะเปลี่ยนผ่านบรรลุเป้าหมายตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงกำหนดให้มี สมาวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาล จำนวน 250 คน 

ที่มาจากการคัดเลือก ดังนี้ 1. คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการคัดเลือกแบ่งตามกลุ่มอาชีพ รวมจำนวน 200 คน และเสนอชื่อให้กับ คสช. คัดเลือกเหลือ 50 คน 2.คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ คสช. แต่งตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 12 คน คัดเลือกบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม ในอันจะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศ จำนวนไม่เกิน 400 คน แล้วเสนอรายชื่อดังกล่าวต่อ คสช. เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 194 คน พร้อมคัดเลือกรายชื่อสำรองไว้อีก 50 คน 3. ผู้ที่เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 

ทั้งนี้การทำงานของ สมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาล จำนวน 250 คน มีระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ 14 พ.ค. 62 ภายหลังมีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศแต่งตั้ง 

สำหรับบทบาทของ สมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาล นอกจากจะมีอำนาจเหมือน สมาชิกวุฒิสภา ตามบทบัญญัติหลักแล้ว ยังมีการเพิ่มอำนาจพิเศษขึ้น อาทิ

  1. การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ
  2. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ เพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ
  3. การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ตาม มาตรา 137 (2) หรือ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
  4. การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีหลายฝ่าย ทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้าน ภาคประชาชน หรือแม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย พยายามยื่นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ มาตรา  272 เพื่อปิดสวิตช์ สมาชิกวุฒิสภา ในการ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ และปี 66 นี้ เป็นปีสุดท้ายที่ สมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาล มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาล จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในปี 67

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม