“ราเมศ” แจง ขั้นตอนประชุมใหญ่วิสามัญ เลื่อน กำหนดวันเลือกหัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ เหตุปรับเปลี่ยนระเบียบการประชุมพรรค
วันที่ 21 ก.ค. 66 นาย ราเมศ รัตนะเชวง โฆษก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่จะมีการนัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2 เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคประชาธิปัตย์ ชุดใหม่ จากเดิมกำหนดไว้จะประชุมกันในวันที่ 23 ก.ค. นั้น
เนื่องจากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเลื่อนออกไปก่อน ทำให้ กก.บห. ชุดรักษาการ ได้นัดประชุมด่วนในวันนี้ เวลา 11.00 น. เพื่อจะได้มากำหนดเรื่องวัน เวลา และสถานที่สำหรับการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2 อีกครั้ง
นาย ราเมศ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เพราะการประชุม กก.บห. ครั้งที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดสมาชิก เพื่อให้เป็นองค์ประชุมใหญ่เพิ่มเติม 5 ส่วน ประกอบด้วยทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร โดยจะมีการเพิ่มสัดส่วนภาคละ 25 คน ดังนั้นเมื่อมีการกำหนดองค์ประชุมเพิ่มเติม ก็จะต้องมีการออกระเบียบ ซึ่งในการประชุม กก.บห. ในวันนี้จะได้มีการพิจารณาระเบียบการแต่งตั้งตัวแทนสมาชิกเพื่อเป็นองค์ประชุมใหญ่ต่อไป และเมื่อมีการกำหนดสมาชิกที่เป็นองค์ประชุมใหม่ขึ้น ก็จะต้องมีการทำหนังสือแจ้งให้สมาชิกพรรคที่เป็นองค์ประชุมได้รับทราบไม่น้อยกว่า 5 วัน ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรค และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนการจะจัดให้มีประชุมใหญ่วิสามัญในวันใดนั้น เมื่อการประชุม กก.บห. ในวันนี้เสร็จสิ้นแล้ว ตนจะได้แจ้งมติจากที่ประชุมให้ทราบอีกครั้ง
“ขั้นตอนคือ เมื่อร่างระเบียบเสร็จแล้ว พรรคจะมีกระบวนการให้รองหัวหน้าพรรคแต่ละภาคได้ไปคัดเลือกสมาชิกมาเป็นองค์ประชุม ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร จากนั้นจะได้มาออกเป็นหนังสือเชิญสมาชิกที่เป็นองค์ประชุมได้มาเข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญ จากนั้นเมื่อกำหนดเวลา ขั้นตอนว่าจะต้องใช้ระยะเวลากี่วัน กก.บห.ทุกท่านก็มีสิทธิ์เสนอว่าจะมีการประชุมในวันไหนต่อไป” นายราเมศ กล่าว
นาย ราเมศ ยังได้กล่าวถึงการที่มีรายงานข่าวระบุ “ประชาธิปัตย์มีข่าวลือหนักกว่านั้น คือเพจของพรรคโพสต์ว่า มี 16 ส.ส.ภาคใต้ ปันใจให้ภูมิใจไทย” นั้นว่า เพจของประชาธิปัตย์ ไม่เคยโพสต์ในสิ่งเหล่านี้ แม้การวิเคราะห์ในลักษณะนี้จะเป็นสิทธิ แต่ถ้าจะไปไกลถึงเรื่องดังกล่าว ก็ต้องบอกว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และ 16 ส.ส. ภาคใต้นั้น อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ กติกา และข้อบังคับพรรค ไม่ว่าจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไปในทิศทางใด ก็จะต้องมีการประชุมหารือ เพื่อให้เกิดเป็นมติพรรค สำหรับนำพาพรรคก้าวไปข้างหน้า ฉะนั้นการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ก็เป็นหลักการที่พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการมาตลอด
“พรรคยังไม่ได้มีการพูดคุยกรณีของการร่วม หรือไม่ร่วมรัฐบาล ขณะนี้อยู่ในกระบวนการที่สำคัญคือการเลือกนายกรัฐมนตรี สิ่งที่ผมย้ำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็คือ ไม่ใช่ว่าใครจะตัดสินใจได้คนเดียว ในเรื่องการร่วม หรือไม่ร่วมรัฐบาล อำนาจในการพิจารณาจะต้องเป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง กก.บห. และ สส. ชุดปัจจุบัน 25 ท่าน แล้วมีมติว่าจะร่วม หรือไม่ร่วมรัฐบาล นี่คือหลักการของพรรค ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง คนเดียว หรือสองคน จะไปพิจารณาทำอะไรกันลับๆ แล้วไปตกลงว่าจะร่วม หรือไม่ร่วมรัฐบาล แต่จะต้องผ่านที่ประชุมตามข้อบังคับพรรค ผมไม่อยากให้มีการรายงานข่าวลักษณะนี้ เพราะพรรคจะเกิดความเสียหาย ประชาชนจะเกิดความสับสน” นาย ราเมศ กล่าว