สว.เสรี ชี้ภาพ "เศรษฐา" และพล.อ.ประยุทธ์ พบกันไม่มีนัยยะทางการเมือง เชื่อไม่มีการสืบทอดอำนาจ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลของนายเศรษฐา และภาพที่ 2 นายกฯ พบกันที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวานนี้ว่ามีความรู้สึกหรือมีนัยยะซ่อนอยู่ในภาพหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า บรรยากาศดูดีมีการพูดคุยกันไม่ใช่มีการเผชิญหน้ากัน ถือเป็นเรื่องดีสำหรับการที่จะมีรัฐบาลแล้วก็บริหารประเทศต่อไป
เมื่อถามต่อว่า หน้าตาของโผ ครม.ของเศรษฐา ที่คลอดออกมาเป็นอย่างไร จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นได้หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นเรื่องของการตกลงกันว่าแต่ละพรรคการเมืองที่มาร่วมแล้วให้เกิดรัฐบาลใหม่เกิดขึ้น อยู่กับการร่วมมือกันของแต่ละพรรค เพราะฉะนั้นเมื่อมีการตกลงกันแล้ว ก็เป็นไปตามที่ตกลง ส่วนเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วเป็นช่วงเวลาที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงกับประชาชน ซึ่งอาจมีคำถามเยอะหน่อย แต่ก็เชื่อว่าในเบื้องต้นก็คงจะดำเนินไปได้ด้วยดี
เมื่อถามย้ำเกี่ยวกับการที่มีภาพของเศรษฐา ไปพบนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีนัยยะทางการเมืองเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง หรือการสืบทอดอำนาจที่จะส่งไม้ต่อเป็นไปได้หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เรื่องสืบทอดอำนาจตนว่าไม่น่าจะมี มันเป็นการส่งต่ออำนาจกัน และถ้าสืบทอดอำนาจก็ไม่รู้ว่าจะสืบกันยังไง มองไว้ในแง่ดีดีกว่า เพราะว่าในการที่จะปรับเปลี่ยนรัฐบาลก็เป็นมารยาทกันอยู่แล้วที่ให้เกียรติกัน แล้วก็พูดคุยกัน แล้วก็แสดงออกซึ่งความเป็นมิตรไมตรีต่อกัน ผมว่าให้ประเทศมันเดินไปข้างหน้าไปก่อน ตอนนี้เราก็ยุ่ง ๆ มาระยะเวลาหนึ่งพอสมควรแล้ว ก็ให้โอกาสกันน่าจะดีที่สุด เพราะประชาชนก็อยากจะเห็นรัฐบาลที่สามารถทำงานได้ ทุกอย่างจะได้ขับเคลื่อนต่อไปได้ บางทีอะไรที่อยู่ในใจก็เก็บๆกันไว้ก่อน อย่าเพิ่งแสดงออกอะไรตอนนี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่ารัฐบาลใหม่ทำงานไม่ได้ เพราะมามีแต่เรื่องขัดแย้งกัน ก็ให้โอกาสกัน
เมื่อถามว่าในนาทีนี้มองว่าเป็นทางลงจากหลังเสือของคสช. แล้วหรือไม่ จะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบไม่ใช่เปลี่ยนผ่านได้หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า มันก็คงเป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุดในขณะนี้ แต่มันจะระดับไหน เต็มใบ ครึ่งใบ อะไรก็ตามมันก็มาจากการเลือกตั้งประชาชนก็ตัดสินใจที่จะเลือกตัวแทนมาแล้ว ตัวแทนก็มาบริหารจัดการ แล้วก็เลือกคนที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ต้องการ
เมื่อถามว่าในอนาคตจะมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรในการทำงานหลังจากนี้หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่าต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งว่า การตั้งรัฐบาลร่วมมาจากพรรคการเมืองหลายพรรค มันเป็นจุดอ่อนส่วนนึงก็ว่าได้ เพราะว่าการมีเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นความเห็นที่แตกต่าง ความเห็นที่จะทำงานร่วมกันจะได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการร่วมแรงร่วมใจกัน เพราะว่าในการเป็นพรรคการเมืองหลายพรรค ตนเห็นมาหลายครั้ง ในที่สุดมันก็เกิดเป็นความเปราะบางและขัดแย้งกัน แล้วแยกตัวกันรัฐบาลก็อาจจะอยู่ลำบาก เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่ส่วนจะอยู่อย่างมั่นคง มีเสถียรภาพเข้มแข็งหรือไม่อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่จะต้องเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ ถ้าเกิดไปเสนอนโยบายในแนวทางที่เห็นแต่ของตัวเองและฝ่ายตัวเองมากจนเกินไป มันก็อาจจะกลายเป็นความขัดแย้ง
แล้วถ้าเป็นเรื่องนโยบายที่ไม่สุจริต ไม่ซื่อสัตย์ หรือว่าไม่มีจริยธรรม ไม่มีคุณธรรม มันก็จะมีความเห็นที่ต่างเกิดขึ้นง่าย เพราะฉะนั้นรัฐบาลใหม่ที่เกิดขึ้นมาจะต้องตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริต และข้อสำคัญที่ต้องพูดกันคือการทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง อย่าให้ใครมากระทำความผิดต่อกฎหมาย จนกระทั่งเกิดความแตกแยก และที่รับปากว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 112 จะไม่นำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาในส่วนของการจัดแก้รัฐธรรมนูญด้วย มันก็จะสามารถทำให้ประเทศเดินต่อไปได้ แต่ถ้าพูดแล้วผิดคำพูดหรือไม่สนับสนุนคน หรือกลุ่มคน หรือพรรคการเมืองใดก็ตาม ที่กระทบต่อสถาบันนั่นแหละคือจุดอ่อนที่จะเกิดขึ้น และรัฐบาลใหม่ที่เกิดขึ้นต้องคำนึงถึงจุดเปราะบาง หรือจุดที่เป็นปัญหา ให้คิดดูให้ดี แล้วก็ไม่ทำในเรื่องเหล่านี้ ตนเชื่อว่าประเทศไทยก็สามารถอยู่อย่างสงบได้
เมื่อถามเกี่ยวกับเสียงโหวตของ สว. ในวันโหวตเลือกนายกฯ ที่มีความแตกต่างกันมาก หลายคนจึงประเมินว่าอาจจะมีผลต่อจุดยืน หรือการทำงานของสว.ในอนาคตที่อาจจะเอื้อให้กับบางพรรคพรรคการเมืองได้หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ระยะเวลาของ สว.เหลือแค่ 10 เดือนเท่านั้น เพราะฉะนั้นผลของการลงคะแนนก็ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ในอนาคตถ้าไม่มีการทำอะไรผิด ๆ ผมว่าสว.ก็คงอยู่ในสถานภาพที่ใกล้จะหมดอายุ ก็คงจะไม่เกิดปัญหาอะไรขึ้น เพียงแต่ว่าถ้าไปทำอะไรที่ผิด แล้วเกิดการไม่เห็นด้วยขึ้นมาก็จะกลายเป็นประเด็น แล้วก็ทุกคลิปยกขึ้นมาจะกลายเป็นปัญหา รัฐบาลใหม่เกิดขึ้นก็ทำสิ่งที่มันดี อย่าไปทำอะไรที่มันขัดต่อความรู้สึกของประชาชน แล้วก็จัดกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรม หรือว่าจะออกกฎเกณฑ์อะไรก็ตามก็ต้องคำนึงถึงประชาชนอื่น ๆ ด้วยอย่าไปทำอะไรส่วนตัวส่วนบุคคลจนประชาชนเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจ หรือเกิดความรู้สึกว่าเกิดความเหลื่อมล้ำ ตนคิดว่ามันก็จะเป็นประโยชน์กับตัวรัฐบาลเอง.