กรมทรัพย์สินทางปัญญา ชี้แนวทาง "ปังชา" ยังขายได้หรือไม่ หลังเจ้าของร้านเจอยื่นโนติสฟ้องเรียกค่าเสียหาย 102 ล้าน
จากกรณี “ปังชา” กลายเป็นประเด็นยอดฮิตที่ทุกคนให้ความสนใจว่าเมนูขนมน้ำแข็งไสที่มีขนมปังและราดด้วยชาไทยยังขายอยู่ทั่วไปได้หรือไม่ หลังมีผู้ประกอบการถูกยื่นโนติสเรียกค่าเสียหายจากร้านดัง 102 ล้านบาท โดยระบุถึงทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับความคุ้มครอง พร้อมทั้งสงวนสิทธิห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือนำชื่อไปใช้
กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้อธิบายถึงทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องแต่ละประเภท เพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และร้านอาหารที่มีเมนูลักษณะนี้ต้องทำอะไรต่อบ้าง
ลิขสิทธิ์คืออะไร
ลิขสิทธิ์ คือ ความคุ้มครองทางกฎหมายที่ให้แก่เจ้าของผลงาน ที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์
การคุ้มครองลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันทีที่มีการสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ต้องจดทะเบียน
ประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์
ประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์ ได้แก่ งานวรรณกรรม งานนาฎกรรม งานศิลปกรรม งานดนตรีกรรม งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพยนตร์ งานสิ่งบันทึกเสียง
งานแพร่เสียงแพร่ภาพ และงานอื่นๆ ในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ
ตัวอย่างลิขสิทธิ์ในธุรกิจร้านอาหาร เช่น ภาพถ่าย Display สินค้า ลวดลาย และรูปเล่มของเมนูอาหาร ลวดลายหรือภาพวาด บนภาชนะใส่อาหาร เป็นต้น
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ
การนำภาพวาดหรือภาพถ่ายของผู้อื่นไปใช้ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนเสมอ ภาพวาดหรือภาพถ่ายที่ทำขึ้นด้วยตนเอง แม้จะออกมาคล้ายกัน เพราะเป็นมุมเดียวกัน แนวคิดเดียวกันก็ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของใคร
สิทธิบัตร
สิทธิบัตรการประดิษฐ์
การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่มีความซับซ้อนหรือมีการแก้ไขปัญหาทางเทคนิค เช่น กระบวนการฆ่าเชื้อสเตอริไลซ์สำหรับอาหาร นมปราศจากแลคโตส
อนุสิทธิบัตร
การประดิษฐ์ขึ้นใหม่ที่มีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น แต่ไม่มีความซับซ้อนทางเทคนิคมากนัก เช่น สูตรอาหารเจลสำหรับพกพา เครื่องผลิตน้ำแข้งไสแบบเกล็ด
ละเอียด
สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
การคุ้มครองรูปร่าง ลวดลาย หรือองค์ประกอบของสี่ เช่น รูปร่างของขนมที่มีลักษณะพิเศษ ลวดลายของกล่องบรรจุอาหาร
น้ำแข็งไสราดชาไทยมีขายมานานแล้วจึงไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรแล้วอ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในเมนูนี้ได้ แต่ภาชนะที่ใช้ใส่ "ปังชา" ของแบรนด์ที่เป็นข่าว เขาจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ
เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ใครก็ขายได้ แต่อย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต แต่ถ้าคิดค้นสูตรขนมขึ้นใหม่ ซึ่งยังไม่เคยปรากฏในที่ใดมาก่อน สามารถนำมาขอจดอนุสิทธิบัตรได้
เครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้า คือ ชื่อ ข้อความ โลโก้ ภาพ กลุ่มของสี หรือเสียง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ที่นำมาใช้เพื่อสร้างความจดจำของผู้บริโภคในการแยกแยะแบรนด์ต่างๆ
แต่เครื่องหมายการค้าคุ้มครองได้ตามรูปแบบที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น หากข้อความหรือภาพบางส่วนที่สื่อถึงคุณสมบัติหรือคุณภาพของสินค้าและบริการ ข้อความหรือภาพนั้นต้องถูกสละสิทธิ แต่ยังปรากฏบนเครื่องหมายการค้านั้นได้
การสละสิทธิ หมายถึง ไม่สามารถห้ามคนอื่นใช้ข้อความหรือภาพนี้ในลักษณะอื่น แต่ถ้านำมาจัดวางในรูปแบบที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเอาไว้ และเป็นสินค้าหรือบริการที่ใกล้เคียงกัน ยังสามารถห้ามได้อยู่
ข้อความหรือภาพ ที่แม้จะสื่อถึงคุณสมบัติหรือคุณภาพของสินค้าก็อาจจดเป็นเครื่องหมายการค้าได้ หากนำสืบได้ว่ามีการใช้มาต่อเนื่องยาวนานจนผู้บริโภคจดจำและแยกได้ว่าเป็นแบรนด์ของสินค้า
หากอยากรู้ว่าเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนไว้อย่างไร? สามารถสืบค้นโดยเข้าไปที่ บริการสืบค้นด้วยภาพ (Image Search) ผ่านเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือแอปพลิเคชัน DIP e-Service สะดวก รวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ
การใช้คำว่า "...ปัง...ชา..." หรือ "...ปังชา..." กับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ยังทำต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ที่ชวนให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ