อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยัน "ปังชา" ทั้งไทยและอังกฤษ ใช้ได้ทุกคน ไม่สารมารถสิทธิแต่เพียงผู้เดียวได้ เพราะร้านจดไว้แค่โลโก้
ปังชา และ Pang Cha กลายเป็นคำที่สังคมกำลังให้ความสนใจ ภายหลังจากเฟซบุ๊กเพจของทางร้านโพสต์ข้อความ ว่า ทางแบรนด์ได้จดเครื่องหมายการค้า (Trademark) ทั้งชื่อ”ปังชา” ภาษาไทย และ “Pang Cha” ภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ประกอบด้วย จดทะเบียนลิขสิทธิ์, จดทะเบียนสิทธิบัตร จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทั้งสองคำ ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถใช้ได้หรือไม่
เกี่่ยวกับเรื่องนี้ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า เมนู “ปังชา” น้ำแข็งไสรสชาไทยใส่ขนมปังซึ่งมีผู้ประกอบการรายหนึ่งอ้างสิทธิในการได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์นั้น ต้องทำความเข้าใจว่า เครื่องหมายการค้า ได้รับจดทะเบียนไว้แบบไหนจะคุ้มครองตามรูปแบบที่จดได้ และเฉพาะการใช้คู่กับสินค้าหรือบริการที่ระบุไว้ในคำขอเท่านั้น
กรณีนี้ผู้ประกอบการดังกล่าวได้ยื่นจดเครื่องหมายการค้ากับกรมฯ ไว้ 9 เครื่องหมาย ทุกเครื่องหมายมีการสละสิทธิคำว่า “ปังชา” และ “Pang Cha” ยกเว้นคำขอเลขที่ 220133777 ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่มีองค์ประกอบของคำว่า Pang Cha และรูปไก่ประดิษฐ์วางอยู่ในวงรี ซึ่งผู้ยื่นอ้างว่ามีการใช้เครื่องหมายนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จึงได้รับการจดทะเบียน โดยไม่มีการสละสิทธิคำว่า Pang Cha ทำให้ผู้ประกอบการมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายดังกล่าว “แต่ไม่สามารถดึงเฉพาะบางส่วนของเครื่องหมาย คือ คำว่า “Pang Cha” มาอ้างว่าเป็นเจ้าของสิทธิแต่เพียงผู้เดียว
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ย้ำว่า บุคคลอื่นยังสามารถนำคำนี้ไปใช้ได้แต่ต้องไม่ใช้ทั้งภาพและคำในรูปแบบเดียวกันกับที่ผู้ประกอบการรายนี้ได้รับจดทะเบียนเอาไว้แล้ว เพราะจะเป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าได้
ส่วนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการรายนี้มีการจดทะเบียนภาชนะสำหรับใส่ปังชาไว้แล้ว แต่ไม่ได้จดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรใน ‘สูตรปังชา’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีเมนูน้ำแข็งไสรสชาไทย จึงสามารถทำขายต่อไปได้
พร้อมฝากถึงผู้ประกอบการว่า การออกแบบเครื่องหมายการค้า ควรเลือกใช้คำหรือภาพที่ไม่สื่อถึงประเภท คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าและบริการที่ขาย เพราะไม่มีใครสามารถอ้างสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในคำหรือภาพเหล่านั้นได้ ซึ่งผู้ประกอบการอาจยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในประเด็นนี้