ทนายเผยเตรียมเอกสารเพื่อยื่นทูลเกล้าฯ ขออภัยโทษ"ทักษิณ"

31 ส.ค. 66

"วิญญัติ ชาญมนตรี" ทนายความประจำตัวของนายทักษิณ ชินวัตร เผยอยุ่ระหว่างเตรียมเอกสารยื่นทูลเกล้าฯขออภัยโทษ ส่วน "คุณหญิงอ้อ”ไม่สามารถใช้สิทธิของทนายเยี่ยม “ทักษิณ”ได้ ต้องใช้สิทธิญาติเท่านั้น

 

จากกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวเป็นวันที่สาม ณ ห้อง 1401 ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ (หอผู้ป่วยพิเศษระดับสูง) รพ.ตำรวจ เนื่องด้วยหลายโรครุมเร้า โดยเฉพาะโรคหัวใจ หลังตัดสินใจเดินทางกลับเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากนั้นตกกลางดึกเกิดอาการแน่นหน้าอก นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ เป็นเหตุให้ผู้บัญชาการเรือนจำฯ และแพทย์พิจารณาสภาวะความเสี่ยงอันตราย ตัดสินใจย้ายนายทักษิณ เข้ารับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและเครื่องมือทางการแพทย์ที่เหมาะสมที่ รพ.ตำรวจ ตามที่ได้มีการรายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น

 

เมื่อวันที่ 31 ส.ค.นายวิญญัติ ชาญมนตรี ทนายความประจำตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรณีที่ญาติคนใดใน 10 รายชื่อจะเดินทางเข้าเยี่ยมนายทักษิณที่ รพ.ตำรวจ ตนจะทราบก็ต่อเมื่อได้รับรายงานจากทีมรักษาความปลอดภัยของทางครอบครัวเท่านั้น ไม่ทราบกำหนดเวลาของแต่ละบุคคล ส่วนการเข้าเยี่ยมของแต่ละคนก็จะต้องเข้าตามเวลาที่ราชทัณฑ์และ รพ. กำหนดไว้ คือ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 16.00 น. โดยเข้าเยี่ยมได้เพียงคนละ 30 นาที

 

เมื่อถามว่าทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ต้องขังสามารถพาบุคคลภายนอกที่ไม่อยู่ใน 10 รายชื่อ เข้าไปพบนายทักษิณได้ด้วยหรือไม่ เนื่องจากจะมีกรณีที่ทนายสามารถพาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปรึกษาทางคดีเข้าไปได้ ทนายวิญญัติ ระบุว่า บุคคลที่จะเข้าไปพร้อมทนายความได้ ส่วนใหญ่จะเป็นในส่วนของผู้ช่วยทนาย

 

เมื่อถามต่อว่า หากบุคคลภายนอก อาทิ กรณีของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาของ ทักษิณ ชินวัตร สามารถเข้าไปกับทนายความได้หรือไม่ ทนายวิญญัติ ขยายความว่าสามารถทำได้ แต่ต้องมีการแจ้งเหตุผลไปให้ทางเรือนจำฯรับทราบก่อน เพื่อตรวจสอบว่าจะได้รับการอนุญาตจากเรือนจำฯหรือไม่

 

ทนายวิญญัติ ระบุอีกว่า สำหรับการเตรียมเอกสารเพื่อการยื่นทูลเกล้าฯ ขออภัยโทษของนายทักษิณ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมเรื่องเอกสาร ซึ่งนายทักษิณจะเป็นเจ้าของเรื่องสำหรับกระบวนการทั้งหมด หากมีความพร้อมครบถ้วนแล้ว จึงจะประสานแจ้งไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม เรื่องกรอบเวลาการพักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ของนายทักษิณ จะอยู่ในความรับผิดชอบของแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งมีการประเมินวันต่อวัน ตนจึงไม่สามารถระบุห้วงวันที่และเวลาได้ว่านายทักษิณจะต้องนอนพักรักษาตัวที่นี่นานเท่าไร หรือมีอาการทุเลาดีขึ้นเพียงพอต่อการที่แพทย์จะพิจารณาให้ย้ายกลับไปรักษาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

 

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบในประเด็นที่ทนายความของผู้ต้องขังสามารถพาบุคคลอื่นที่ไม่อยู่ใน 10 รายชื่อเข้าเยี่ยมนายทักษิณได้แต่ต้องเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการปรึกษาทางคดีว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น ซึ่งได้รับการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ภายในกระทรวงยุติธรรมรายที่ 1 ว่า บุคคลที่จะเข้าไปพร้อมกับทนายความได้นั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับคดีความของผู้ต้องขัง และทนายความจะต้องแจ้งไปยังเรือนจำว่าบุคคลดังกล่าวคือใคร แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นล่ามแปลภาษา หรือผู้ช่วยทนายความ/ที่ปรึกษาทางคดีความ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีกระแสข่าวรายงานว่าอดีตภรรยาของนายทักษิณ อาจเข้าไปพร้อมทนายความนั้น ไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะในฐานะอดีตภรรยา ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ จะถูกจัดไว้ในส่วนของญาติผู้ต้องขัง จะไม่สามารถใช้สิทธิของทนายความได้

 

ทั้งนี้ ยังมีข้อสงสัยของสังคมว่าเหตุใด น.ส.แพทองธาร จึงเข้าเยี่ยมบิดาได้ถึงสองวันติดกันนั้น (28 ส.ค. และวันที่ 29 ส.ค.) เจ้าหน้าที่ภายในกระทรวงยุติธรรม รายที่ 2 อธิบายว่า ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการเยี่ยม การติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2561 สรุปใจความสำหรับกรณีนี้ได้ว่า น.ส.แพทองธาร ถือเป็น 1 ใน 10 รายชื่อที่ได้มีการระบุแจ้งไว้จากนายทักษิณให้สามารถเข้าเยี่ยมได้ ซึ่งการเข้าเยี่ยมนั้น เจ้าตัวหรือผู้แทน (ทนายความ) จะต้องเดินทางไปที่เรือนจำฯ เพื่อติดต่อลงทะเบียนจองวันเวลาการเยี่ยม โดยเป็นการดำเนินการวันต่อวัน หรือ จองล่วงหน้า เพื่อรับบัตรคิวการเข้าเยี่ยม จากนั้นจึงจะสามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่ รพ.ตำรวจได้ และที่สำคัญใน 1 วัน บุคคลนั้นๆเข้าเยี่ยมได้เพียง 1 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ถ้าจะเข้าเยี่ยมในวันถัดไป ก็ต้องดำเนินการจองเยี่ยมใหม่ตามเรียนแจ้งข้างต้น ซึ่งก็ได้มีการปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอน นอกจากนี้ สำหรับ 10 รายชื่อบุคคล (เดิม) ที่ถูกระบุให้เข้าเยี่ยมได้นั้น ทางเรือนจำหรือเจ้าพนักงานเรือนจำจะมีการแจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องขัง/ทนายความ ให้สามารถดำเนินการแก้ไข เปลี่ยนแปลงรายชื่อทั้งหมดได้เมื่อครบ 30 วัน หรือหากผู้ต้องขังไม่ประสงค์เปลี่ยนแปลงรายชื่อก็สามารถกระทำได้ ถือเป็นสิทธิที่ผู้ต้องขังทุกรายทุกคดีได้รับตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์.

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส