นายกฯ พร้อมว่าที่รัฐมนตรีด้านเกษตร ลงพื้นที่สมุทรสงครามคุยผลกระทบ IUU รับปากจะเร่งแก้ปัญหาให้ลืมตาอ้าปากได้หลังเห็นแววตาทุกคนมีความขมขื่น เตรียมตั้งคณะกรรมการดูแล “ธรรมนัส” นั่งหัวหน้า
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางถึง ท่าเทียบเรือ โรงน้ำแข็งศิริไพโรจน์ จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อพบปะพูดคุยสอบถามถึงปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมง ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของ IUU และแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง
การลงพื้นที่ครั้งนี้นอกจากจะมีนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังมีคณะกรรมการนโยบายด้านต่าง ๆ ของพรรคเพื่อไทย รวมถึงว่าที่รัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ร่วมเดินทางลงพื้นที่ ประกอบด้วย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางมนพร เจริญศรี ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายไผ่ ลิกค์ ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ, นายปลอดประสพ สุรัสวดี และนางนลินี ทวีสิน
โดยที่ท่าเทียบเรือวัดปากสมุทร มี นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ประธานคณะกรรมการบริหาร สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย รวมทั้ง ผู้ประกอบการประมง ในพื้นที่ให้การต้อนรับ ซึ่งการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายนับว่าเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทย ได้หาเสียงเอาไว้ ว่าจะเร่งดำเนินการทันทีหากจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ
ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับตัวแทนภาคประมงว่าวันนี้กลับมาในอีกสถานะหนึ่ง ในช่วงหาเสียงก็ได้ลงพื้นที่มีการพูดคุยเรื่องของการประมง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศ IUU เราส่งออกปีละ 350,000 ล้านบาท ปัจจุบันนำเข้า 150,000 ล้านบาท ไปกลับครึ่งล้าน ๆ ต่อปี แล้วช่วงที่ตกต่ำเสียหายหลายล้านล้านบาท
วันนี้มีว่าที่รัฐมนตรีมาหลายท่านเดินทางมาด้วย มั่นใจว่าทุกคนเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถทำงานด้านการประมงมานาน โดยเฉพาะนายปลอดประสพ ที่เป็นคนรู้จริง ทำจริง เราต้องการที่จะแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ คู่ขนานกันไป ทั้งกฎหมายในประเทศ และเจรจาการค้าต่างประเทศควบคู่กันไป ขอให้มั่นใจว่าวันนี้เรามารับฟังปัญหาเพื่อเดินหน้าเต็มที่ในการแก้ไขให้พี่น้องชาวประมง
จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้ชมการสาธิตการขนย้ายสัตว์น้ำจากเรือประมง ก่อนนำส่งออก และนำไปขาย ก่อนจะรับฟังเสียงสะท้อนจากตัวแทนผู้ประกอบการชาวประมงและชาวประมงในพื้นที่ สมุทรสงคราม และสมุทรปราการ
โดยนายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม และที่ปรึกษาสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด กล่าวว่า ขอให้เร่งการแก้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ยังเห็นว่ามีโทษรุนแรงเกินไป โดยเฉพาะกรณีเรือประมงทําผิดโดยไม่เจตนา ต้องถูกปรับหลายล้านบาท และระหว่างพิจารณาแก้กฏหมายประมง ขอให้แก้กฎหมายลูกที่มีปัญหาในการทำประมงภายใน 90 วัน รวมถึงการช่วยเหลือนำเรือออกนอกระบบ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น พร้อมเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง แต่มองว่าควรจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่าขึ้นแรง เพราะเศรษฐกิจจะช็อก
ขณะที่ตัวแทนภาคประมงอื่น ๆ ต่างสะท้อนว่า เมื่อก่อนไทยเป็นอันดับหนึ่งในน่านน้ำแต่ตอนนี้เราเป็นศูนย์ ส่วนการส่งเสริมการประมงนอกน่านน้ำคือเงินทุน เพราะหากมีเพียงนโยบายไม่สามารถทำได้จริง ส่วนปัญหาระยะยาวคือ องค์ความรู้เนื่องจากไต๋เรือในปัจจุบัน อายุ 50 กว่าปี ก็ใกล้เกษียณอายุ ขณะที่ไต๋เรือรุ่นใหม่ก็แทบไม่มี เพราะไม่มีการส่งเสริมในเรื่องนี้ และติดขัดเรื่องข้อกฎหมายด้วย เช่นเดียวกับปัญหาด้านเรื่องแรงงาน ซึ่งชาวประมงมีการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว หรือ Name List เพราะตอนนี้สามารถทำงานได้เฉพาะบนฝั่ง ซึ่งในประเด็นนี้ชาวประมงบริการขึ้นทะเบียนไว้ 400 คน ดังนั้น อยากให้แก้ไขให้สามารถทำงานในเรือประมงได้ด้วย
โดยหลังรับฟังปัญหา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้เห็นถึงความลำบาก เห็นถึงปัญหา และเห็นแววตาทุกคนมีความขมขื่น ตั้งแต่ตนได้รับสนองพระบรมราชโองการฯ ได้มีการไปดูเรื่องท่องเที่ยว และการแก้ปัญหาหนี้สิน วันนี้มีการมาดูในเรื่องของการประมง และแรงงานอะไรที่อยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรีก็จะมีการตั้งคณะกรรมการมาดูแล โดยให้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นหัวหน้าคณะกรรมการ เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาพูดคุยกัน หลายอย่างเราอาจจะทำไม่ได้ทั้งหมด ในคราวเดียวแต่ขอความกรุณา ขอให้อดทนและมั่นใจในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่อะไรที่ทำได้จะทยอยทำไปก่อน อย่างน้อยให้ลืมตาอ้าปากได้ก่อน อย่างเรื่องของน่านน้ำในต่างประเทศ เช่นที่ประเทศอินโดนีเซีย มีทรัพยากรทางน้ำมาก แต่ไม่มีศักยภาพในการจับสัตว์น้ำ เราจะเดินหน้าเต็มที่เพื่อไปเปิดประตูการค้า