“วราวุธ” ยัน 18 ก.ย.นี้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึงมือแน่

13 ก.ย. 66

วราวุธ” ยัน 18 ก.ย.นี้ งบอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึงมือแน่ ปลอบผู้สูงอายุยังได้เงินอยู่ ส่วนจะได้ถึง 3,000 หรือไม่ต้องดูตามขั้นตอน


นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงโครงการเงินอุดหนุนเด็ก หรือเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ว่า

วันนี้จะมีการเซ็นเอกสารด่วนซึ่งเป็นหนึ่งในวาระที่ ครม.จะพิจารณาจะเซ็นเอกสารวาระจรเข้าครม.เรื่องเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดและได้กำชับปลัด พม.และทุกฝ่ายเร่งประสานงานกับเลขาฯ ครม.กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ ซึ่งจะเร่งมือภายใน 24 ชั่วโมง เพราะถือเป็นหัวใจที่จะทำให้เงิน 600 บาทเข้าถึงกระเป๋าของประชาชนกว่า 2,254,000 ราย ในวันที่ 18 กันยายนนี้

ซึ่งในปีหน้าก็ได้กำชับกรมกิจการเด็กและเยาวชนให้เร่งดูงบประมาณเพื่อที่จะไม่มีความล่าช้าเกิดขึ้นแบบนี้อีก โดยในช่วงบ่ายนี้คาดว่ามติครม.จะออกมาและขอให้สำนักเลขาฯ ครม.รีบส่งเรื่องไปที่ พม.

ทั้งนี้ยืนยันว่า พม.ให้ความสำคัญกับคนทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเด็กแรกเกิดในประเทศไทยยังค่อนข้างต่ำ ซึ่งต้องการให้มีอัตราเด็กแรกเกิดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการดูแลเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ปี เป็นหัวใจสำคัญ นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญวัยสูงอายุ ที่มีประมาณ 22% แล้ว ถือเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ ดังนั้นเด็กแรกเกิดและผู้สูงอายุเราให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และให้โอกาสกับประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการทุกเพศทุกสถานะ

ส่วนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุวันนี้ก็ยังเหมือนเดิมและไม่ได้แปลว่าอนาคตจะลดลง ส่วนโอกาสที่จะปรับขึ้นเป็น 3,000 บาทต่อเดือนหรือไม่นั้น หากเป็นไปตามขั้นตอนก็คงต้องดูถึงความเป็นไปได้กับงบประมาณประเทศ เพราะหากขึ้นถึง 3,000 บาทต่อคน ได้ภายในปี 2570 เราจะต้องใช้งบประมาณกว่า 200,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนงบในขณะที่ทุกวันนี้ใช้อยู่ประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท


“การปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุไม่ใช่ปรับจาก 1,000 บาท ไปเป็น 3,000 บาทเลย เรามีผู้สูงอายุอยู่ประมาณ 2,200,000 ราย ภายในปี 2570 คาดว่าจะมีสูงถึง 2,550,000 ราย ซึ่งหากจ่าย 3,000 บาทต่อคน ก็จะใช้งบกว่า 200,000 ล้านบาท ก็คงต้องดูสัดส่วนงบประมาณว่าพอถึงปี 2570 แล้วจะมีรายได้จัดเก็บอยู่เท่าไหร่ โดยมั่นใจว่าประชาชนคนไทยอยากได้รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า แต่คงไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นเหมือนบางเมืองในทวีปยุโรป ที่มีการดีแคลร์สถานะล้มละลาย เนื่องจากมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ ทำให้ไม่สามารถมีงบมาพัฒนาเมืองได้ ซึ่งประเทศไทยมีความละเอียดอ่อน วันนี้ผู้เสียภาษีในประเทศไทยยังมีไม่ถึง 50% ดังนั้นก็ต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายและข้อจำกัดที่จะใช้จ่าย ดังนั้นความเท่าเทียมก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูภาครายรับด้วยเช่นกัน” 

สำหรับงบปี 2567 ที่ยังไม่อนุมัติจากสภานั้น ในเบื้องต้นเงินส่วนนี้อาจจะเป็นเงินของบกลางก่อน.

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส