“กัญจนา” เยี่ยมเหยื่อพ่อแม่ฆ่าโบกปูน วอนชี้เบาะแสความรุนแรงในครอบครัว

20 ก.ย. 66

“กัญจนา” รุดเยี่ยม เหยื่อ พ่อแม่ฆ่าโบกปูนเด็ก 2 ขวบ วอน สังคม ชี้เบาะแสความรุนแรงในครอบครัว ให้เด็กรอดพ้นการถูกทำร้าย ไม่เป็นสมบัติที่ชำรุดของสังคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจาก กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมพ่อฆ่าลูก 2 ขวบโบกปูน เจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ช่วยเหลือนำตัวเด็กหญิง 2 พี่น้อง วัย 12 ขวบ และ 4 ขวบ ที่ถูกพ่อแม่ทำร้ายโดยคนพี่ถูกทุบตีมีบาดแผลหลายแห่ง ขณะที่คนน้องถูกจับแช่น้ำ และยังถูกจับขังไว้ในห้องพักบนอพาร์ทเม้นท์ ซอยพหลโยธิน 48 แยก 11 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

เมื่อเวลา 10.00 น. น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดขับเคลื่อนนโยบายรมว.พม. พร้อมด้วย นายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดขับเคลื่อนนโยบายรมว.พม. เดินทางเข้าเยี่ยมเด็กทั้ง 2 คน ที่บ้านพักเด็กและเยาวชนกรุงเทพฯ บริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิง บ้านราชวิถี แยกตึกชัย กทม. และที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี  โดยมี นายธนสุนทร สว่างสาลี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนางเตือนใจ คงสมบัติ รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมคณะลงพื้นที่เยี่ยมและติดตามการช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก

น.ส.กัญจนา กล่าวว่า ขั้นตอนของการช่วยเหลือเด็กของพม. หลังจากที่ได้นำน้องทั้ง 2 คนออกมาจากจุดที่เป็นอันตราย เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีใครทำร้ายน้องได้อีก ให้มาอยู่ในความดูแลของพม. จากนี้จะดำเนินการรักษาบาดแผล และถึงแม้ว่าน้องคนโตจะไม่มีบาดแผลให้เห็นในปัจจุบันแต่มีร่องรอย ส่วนน้องคนเล็กยังอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่โรงพยาบาล และขั้นตอนต่อไปคือการฟื้นฟูจิตใจ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร จากนั้นจะเป็นการวางแผนอนาคตของน้องว่าจะเป็นไปอย่างไร โดยมีรูปแบบ ญาติอุปถัมภ์ ดูว่ามีครอบครัวไหน มีความพร้อม สามารถรับน้องไปดูแล แต่หากไม่มี ญาติอุปถัมภ์ก็จะต้องหา ครอบครัวอุปถัมภ์ ที่พอจะรับน้องได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากขั้นตอนของการฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจนั้นกินเวลานานพอสมควร แล้วจึงมาดูขั้นตอนต่อไปกันว่าจะมีญาติอุปถัมภ์ หรือ ครอบครัวอุปถัมภ์ แต่ถ้าไม่มีเลยสุดท้ายจริง ๆ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิด คือน้องต้องไปอยู่บ้านสงเคราะห์ ซึ่งแนวทางดังกล่าวทางกรมไม่อยากทำมากที่สุด

น.ส.กัญจนา กล่าวว่า เรื่องความรุนแรงในครอบครัวขอเรียนคนไทยทุกคนว่ากรุณาอย่ามองว่าเป็นเรื่องของครอบครัวใคร ครอบครัวมัน เพราะเราอยู่ในสังคมเดียวกัน โดยเฉพาะถ้าผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เป็นผู้ที่มีเสียงน้อย เป็นผู้ที่อ่อนแอ เสียงเขาจะไม่มีพลัง ไม่ดัง แต่เพื่อนบ้านใกล้เคียงจะเป็นผู้ที่รู้และสามารถสังเกตเห็นได้ ช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้กับพวกเขาด้วย กรุณาถือว่าเราอยู่ในสังคมเดียวกัน ถ้าไม่ช่วยเหลือกันเขาซึ่งเป็นผู้อ่อนแอ ช่วยตัวเองไม่ได้ก็จะเกิดเหตุที่น่าสงสาร จึงอยากให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตา เพราะหากเด็กเหล่านี้รอดพ้นจากการถูกทำร้าย โตขึ้นเขาก็จะเป็นสมบัติที่ชำรุดของสังคม แล้วจะเป็นลูกโซ่ของความทารุณ เขาก็จะไปทำทารุณ เพราะเขาเคยถูกกระทำมาก่อน จะเป็นมรดกที่ชั่วร้ายของสังคมไทย เราต้องตัดตอนสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นเยียวยาเขาตั้งแต่ต้น กระทรวงพม.มีสายด่วน 1300 ซึ่งตั้งแต่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพม. เข้ามาก็จะทำให้สายด่วน 1300 เป็นพลังที่พึ่งของสังคมได้ นอกจากนี้มีแอพพลิเคชั่นไลน์ ชื่อ "Ess Help Me" หรือระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม ESS ที่ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแส ได้อีกช่องทางหนึ่ง

น.ส.กัญจนา กล่าวว่า เวลาเราเห็นข่าวความรุนแรงในครอบครัวมักจะเห็นว่าเป็นภาคเอกชนที่มาเป็นตัวเชื่อมมาโดยตลอด แต่ภาครัฐทำไมจึงไม่เป็นหน่วยงานแรกที่เข้าช่วยเหลือ ซึ่งทางรองอธิบดีอธิบายว่า ภาครัฐทำงานกันมากกว่า 80% เพียงแต่เมื่อเราทำงานซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนจึงไม่ค่อยเป็นข่าว ขอย้ำว่าไม่ใช่ว่าหน่วยงานไม่ใช่เป็นผู้รับเรื่องตั้งแต่ต้น เราทำแต่ไม่เป็นข่าว แต่อย่างไรก็ตามถือเป็นเรื่องดีที่ภาคเอกชน ประชาชน ทำงานร่วมกับภาครัฐ เราร่วมด้วยช่วยกัน

ด้านนายนิกร กล่าวว่า รัฐมนตรีวราวุธได้มอบนโยบายกระทรวงพม. แล้วว่าจะมีการปรับแก้กฎหมายเรื่องความรุนแรง เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นต้องเขียนกฎหมายให้ดีเพื่อที่จะดูแลได้ ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในนโยบายของกระทรวงแล้ว

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส