ราชบัณฑิตยสภา ประกาศ ศัพท์บัญญัติคำว่า clickbait หรือเรียกทับศัพท์ คลิกเบต คือ พาดหัวยั่วให้คลิก ดึงดูด เพิ่มปริมาณการเข้าชมเว็บเพจ
วันที่ 2 ต.ค. 66 เพจเฟซบุ๊ก ราชบัณฑิตยสภา เผยแพร่ประกาศว่า ศัพท์บัญญัติของคำว่า clickbait หรือทับศัพท์ คลิกเบต มีความหมายว่า พาดหัวยั่วให้คลิก
พร้อมขยายรายละเอียดว่า “พาดหัวยั่วให้คลิก, คลิกเบต เป็นศัพท์บัญญัติของคำว่า clickbait หมายถึง การพาดหัวข่าว หรือหัวข้อเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต เพื่อดึงดูดความสนใจให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้ อยากติดตามอ่านเนื้อหาโดยคลิกเข้าไปอ่าน”
“ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอนั้น อาจไม่มีประเด็นสำคัญ เนื้อหาไม่ครบถ้วน เนื้อหาบิดเบือนไม่ถูกต้อง และไม่ได้ตอบข้อสงสัย หรือความอยากรู้ของผู้อ่านตามระบุในหัวข้อข่าว มีลักษณะไม่น่าเชื่อถือ หลอกล่อ เชิญชวนเข้ามาให้อ่านเนื้อหา เปรียบเสมือนการใช้เบ็ดล่อเหยื่อให้ตกหลุมพราง”
“วัตถุประสงค์หลักของพาดหัวข่าวยั่วให้คลิก คือต้องการดึงดูด และเพิ่มปริมาณการเข้าชมเว็บเพจของผู้สร้างเนื้อหา เพื่อหารายได้จากการโฆษณาด้วยยอดคลิกจำนวนมากซึ่งดึงดูดโฆษณาได้มากที่สุดและมักปรากฏบนสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) ยูทูบ (YouTube) ส่วนใหญ่มักปรากฏในหัวข้อข่าว หรือรูปภาพหน้าปกให้ดูน่าสนใจ แต่บอกรายละเอียดไม่หมด บิดเบือนจากความเป็นจริง เพื่อให้คนที่อ่านหัวข้อใคร่รู้ความจริง หรือต้องการอ่านเนื้อหาข่าว ทำให้เพิ่มยอดการเข้าชมจากผู้สร้างข่าวดังกล่าวได้”
“พาดหัวยั่วให้คลิก ปรากฏบนสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก ทั้งในหน้าฟีดข่าว เพจ หรือสำนักข่าวต่างๆ อาจเป็นเพราะแข่งขันกันหารายได้จากการโฆษณา หรือด้วยเหตุผลอื่น ทำให้ต้องสร้างความน่าสนใจของข่าวด้วยวิธีการต่าง ๆ ดึงดูดให้เกิดการคลิกมากยิ่งขึ้น แม้ว่าหัวข้อข่าวจะไม่ตรงกับข่าว บอกรายละเอียดไม่หมดก็ตาม”
“การพาดหัวข่าวแบบพาดหัวยั่วให้คลิกได้สร้างผลกระทบต่อประสิทธิภาพการสื่อสาร คุณภาพเนื้อหา และสิทธิของการรับรู้ข่าวสารของผู้ใช้สื่อออนไลน์บ้างไม่มากก็น้อย กล่าวคือ โดยลักษณะของการพาดหัวข่าวแบบพาดหัวยั่วให้คลิกช่วยเพิ่มความสนใจ และเพิ่มยอดผู้ชมเว็บไซต์ได้มากขึ้น แต่การใช้ภาษาดึงดูดจากหัวข้อข่าว หรือหัวเรื่องได้นำไปสู่ความเข้าใจผิดตั้งแต่ต้นในหลาย ๆ กรณี หากผู้ใช้สื่อออนไลน์กดเข้าไปอ่านข่าวก็จะพบแต่เนื้อหาข้อมูลที่บิดเบือน ผิดพลาด ไม่ครบถ้วน ในขณะเดียวกันหากอ่านเพียงหัวข้อข่าวอย่างเดียวก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือตัดสินเนื้อหาอย่างผิด ๆ อันทำให้เกิดภาวะข้อมูลข่าวสารปลอม ข้อมูลข่าวสารคลาดเคลื่อน และข้อมูลข่าวสารผิดพลาดได้”
ที่มา : หนังสือพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา และเพจเฟซบุ๊ก ราชบัณฑิตยสภา