นายกฯ ติดตามสถานการณ์ช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลอย่างใกล้ชิด ล่าสุดประสานเครื่องบินเอกชนเพิ่ม 4 ลำ หลังมีคนไทยราว 5,000 คน ต้องการกลับบ้าน พร้อมประสานกองทัพอิสราเอลช่วยลำเลียงคนไทยมายังสถาทูตแล้ว โดยในวันนี้แรงงานไทย 15 คนจะเดินทางมาถึงไทยเวลา 11.22 น.
วันนี้ (12 ต.ค. 66) เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศยืนยันล่าสุดแรงงานไทย 15 คน จะเดินทางกลับมาจากประเทศอิสราเอล ด้วยเครื่องบิน สายการบิน El Al ของอิสราเอล เที่ยวบิน LY083 และจะถึงประเทศไทยในเวลา 11.22 น. โดยเมื่อวานนี้ (11 ตุลาคม 2566) เวลา 22.00 น. ณ ประเทศมาเลเซีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ความคืบหน้าการอพยพคนไทยในอิสราเอล
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตอนนี้อยู่ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังจากรับประทานอาหารค่ำ ได้เดินทางมาที่ห้องปฏิบัติการเพื่อติดตามความคืบหน้าถึงสถานการณ์ที่ประเทศอิสราเอล โดยในช่วงเวลา 21:00 น. รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) พร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ได้โทรมาหารือกับนายกรัฐมนตรี กรณีมีแรงงานไทยที่อิสราเอลและในพื้นที่ใกล้เคียงประมาณ 5,000 กว่าคน แสดงเจตจำนงที่จะเดินทางกลับประเทศไทย โดยต้องยอมรับว่าสถานการณ์แย่ และเลวร้ายลงไป ในขณะที่ได้คุยกันและนางพรรณภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ก็แจ้งว่า มีจรวดยิงกันตลอดเวลา
ทั้งนี้เครื่องบินของไทยที่จะออกในวันพรุ่งนี้เพื่อรับคนไทย 15 คนนั้นยังไม่พร้อม เนื่องจากอีก 11 คน กำลังเดินเข้ามาที่สถานทูต เพื่อเตรียมตัวที่จะกลับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีแค่ 4 คนและได้รับบาดเจ็บ แต่อยู่ในสถานทูตปลอดภัยแล้ว
การจราจรในประเทศอิสราเอล ถนนก็ปิดหลายสาย ดังนั้นทางเดียวที่สามารถเดินทางได้ต้องอาศัยรถทหาร โดยพลเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ได้ประสานกองทัพอิสราเอลเพื่อขอให้ช่วยใช้รถของทหารลำเลียงคนของเราเข้ามายังสถานทูต แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ ขณะนี้สถานการณ์เลวร้ายลงไป ดังนั้นเราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะอพยพคน 5,000 คน ให้ได้ในระยะเวลาที่เร็วที่สุด
แต่มีอยู่ 2-3 ปัญหาใหญ่ คือ ต้องมีเครื่องบินเพียงพอ โดยได้ประสาน แอร์เอเชีย ที่จะสามารถให้เครื่องบินได้ 2 ลำ หรือมากกว่า และทางนกแอร์ ก็จะมีอย่างน้อย 2 ลำ และการบินไทยก็อยู่ระหว่างการพิจารณา ตอนนี้พยายามนำเครื่องบินมาให้ได้เร็วที่สุด เพื่อบินเข้ามา และรับออกจากอิสราเอลเพื่อไปจอดยังประเทศข้างเคียง และกลับไปรับใหม่ เพื่อทำให้คนที่ออกจากประเทศอิสราเอลให้เร็วที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาที่ตามมาคือไม่แน่ใจว่า น่านฟ้าจะเปิดนานเท่าไหร่ ปัญหาที่ 3 คือการลำเลียงคนเข้ามาถึงสนามบินนั้นจะสามารถลำเลียงเข้ามาได้มากน้อยขนาดไหน เพราะหากเครื่องบินไปจอดไว้ แต่ไม่สามารถนำคนเข้ามาได้ก็จะเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่เตรียมพร้อมไว้ ถ้าคนมาแล้ว แต่ไม่มีเครื่องบิน ก็จะเสียโอกาสไป เพราะมีโอกาสที่น่านฟ้าจะปิดได้ในเร็ววันนี้ ดังนั้นการปฎิบัติการเราต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะต้องเตรียมพร้อมและอาจจะต้องบินเข้าไปก่อน และเข้าไปเสี่ยงว่าจะสามารถนำประชาชนคนไทยออกมาได้หรือไม่
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับ ความปลอดภัยของประชาชน ที่อยู่ในอิสราเอล สูงที่สุด ไม่ได้นิ่งนอนใจและประสานงานอยู่ตลอดต่อเนื่องของทุกภาคส่วน และพรุ่งนี้เช้าน่าจะมีการอัพเดทสถานการณ์อีกครั้ง ขอให้ติดตามฟังข่าวต่อไป
ส่วนเครื่องบินพาณิชย์ ยอมรับว่ามีค่าใช้จ่ายแต่เขาระบุว่าจะคิดแค่ค่าน้ำมัน แต่ย้ำว่าค่าใช้จ่ายนั้นถือเป็นเรื่องรอง ตอนนี้เรื่องที่สำคัญกว่าคือความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนคนไทย และนี่คือเรื่องที่สำคัญที่สุด มีความเสี่ยง ขณะนี้ทุกคนยังปลอดภัยอยู่ แต่จะทำอย่างไร ให้ทั้ง 5,000 คน มาอยู่ในที่ปลอดภัยก่อนที่จะอพยพกลับเมืองไทย แต่หากอยู่ในที่ที่ปลอดภัยแล้วเครื่องบินไม่มารับ ก็จะมีปัญหาอีก หรือหากเครื่องบินมาแล้วไม่สามารถขึ้นลงได้ก็มีปัญหาอีก ทั้งนี้รัฐบาลมีความพร้อมที่จะนำเครื่องบินมาให้ได้เยอะที่สุด ซึ่งพรุ่งนี้ก็สามารถออกได้เลย แต่ทั้งนี้ต้องให้มั่นใจว่าเมื่อไปถึงแล้วคนไทยพร้อมที่จะออกมา เพราะการเดินทางในอิสราเอลนั้น สามารถใช้ได้เฉพาะรถทหารเท่านั้น
นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าแนวโน้มคนไทยที่แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับมีมากขึ้นเรื่อยเรื่อยเพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์เลวร้ายลงไป ส่วนเครื่องบินของรัฐนั้นก็มีอยู่ 5 ลำ ขนได้ 450-500 คนต่อเที่ยว ดังนั้นเตรียมไว้ 9 ลำหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่าอาจจะมีมากกว่านั้น เพราะขนาดนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังเจรจาอยู่ และยืนยันว่าเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นเป็นเรื่องรอง เท่าไหร่ก็จ่ายเท่าไหร่ก็ต้องออกไปให้ได้ เพื่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน สำคัญที่สุด หากน่านฟ้าเปิดตลอด และสถานการณ์ลดความรุนแรงลง ก็ยังมีความหวังแต่ถ้าเราเสี่ยงไม่ได้ ตรงนี้อาจจะต้องเตรียมเครื่องบินให้เยอะกว่านั้น จะได้อพยพคนไทยกลับมาปลอดภัยได้เร็วที่สุด
ส่วนสื่อของอิสราเอล รายงานว่าพบคนไทย จำนวน 14 คนในเขตพื้นที่กาซา ได้รับรายงานหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ยังไม่ได้รับรายงาน จากเอกอัครราชทูต ณ กรุง เทลอาวีฟ แต่หวังว่าจะเป็นเรื่องจริง และหวังว่าทุกคนจะปลอดภัย เพราะก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากแรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ที่นั่น เมื่อเกิดเหตุระเบิดลงต่างคนต่างตัวเปล่า เหตุการณ์ชุลมุน เอกสารและพาสปอร์ตก็ไม่มี แต่เรื่องเอกสารเป็นเรื่องทีหลังมากกว่า โดยกระทรวงต่างประเทศก็สมทบเจ้าหน้าที่พื้นที่ใกล้เคียง เป็นอาสาสมัครไปช่วยดำเนินการเรื่องเอกสารทำให้ประชาชนออกมาโดยเร็วที่สุด โดยได้สั่งการไปว่าเรื่องของเอกสารขอให้เป็นเรื่องรอง ความปลอดภัยของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
นายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่าตอนนี้ พบคนไทยเสียชีวิต 20 ราย และหวังว่าจะเป็นตัวเลขที่จบแล้ว แต่ก็ยังยืนยันไม่ได้ เพราะการต่อสู้ก็ยังรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ พยายามอพยพคนไทยให้ได้เร็วที่สุด เท่าที่สามารถทำได้ทุกวิถีทาง ขอขอบคุณภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการช่วยนำคนไทยออกมา
เท่าที่ดูจากตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นต้องยอมรับว่าของไทยเป็นประเทศที่มีการสูญเสียสูงที่สุดประเทศหนึ่ง ก็หวังว่ารัฐบาลอิสราเอล คงจะเห็นใจและจะช่วยอำนวยความสะดวกนำรถทหารมาส่งประชาชนคนไทยกลับบ้านโดยเร็วที่สุด