การเชื่อว่าตนเองมีความหยั่งรู้พิเศษ เข้าข่าย "โรคจิตหลงผิด" ต้องพบแพทย์

17 ธ.ค. 66

เชื่อว่าตนเองมีความหยั่งรู้พิเศษ อีกหนึ่งลักษณะเข้าข่าย "โรคจิตหลงผิด" ต้องพบแพทย์ เตือน คนอายุ 40 ปีขึ้นไป กลุ่มเสี่ยงพบมากที่สุด

โรคจิตหลงผิด คืออะไร

ข้อมูลโดย ผศ. พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า โรคจิตหลงผิด คือ การมีความเชื่อ หรือความคิดไม่ตรงกับความเป็นจริง เรียกว่า อาการหลงผิด (delusion) ตั้งแต่ 1 เรื่องนานตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป โดยอาการหลงผิดที่พบบ่อยที่สุดคือ ระแวงว่าตนถูกกลั่นแกล้ง หรือถูกปองร้าย ผูกเรื่องเชื่อมโยงไปในแนวทางเดียวกัน ส่วนใหญ่ไม่พบว่ามีประสาทหลอน เช่น หูแว่ว ผู้ป่วยมักจะยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติ ยกเว้นบางกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความหลงผิด เช่น ถ้าหลงผิดว่าเพื่อนร่วมงานกลั่นแกล้งก็อาจจะขอลาออกจากที่ทำงาน ทั้งๆ ที่ยังทำงานด้านนั้นได้ตามปกติ

ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ตัวว่ามีอาการหลงผิด ญาติหรือผู้ใกล้ชิดจึงควรสังเกตอาการและแนะนำให้มารักษา เพื่อให้ผู้ป่วยปรับตัวและอยู่ในสังคมได้

ประเภทของโรคจิตหลงผิด สามารถแบ่งออกเป็น

- หลงผิดว่าบุคคลอื่นมาหลงรักตัวเอง โดยบุคคลนั้นมักเป็นผู้ที่มีความสำคัญหรือมีชื่อเสียง (Erotomanic Type)

- เชื่อว่าตนเองมีความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น มีความหยั่งรู้พิเศษ (Grandiose Type)

- หลงผิดคิดว่าคู่ครองของตนนอกใจ (Jealous Type)

- ระแวงว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง สะกดรอย หมายเอาชีวิต (Persecutory Type)

- หลงผิดเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง เช่น บางส่วนของร่างกายผิดรูปร่าง หรือ อวัยวะไม่ทำงาน (Somatic Type)

ผลกระทบของโรคจิตหลงผิด

โดยทั่วไปจะกระทบถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เช่นการระแวงว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง สะกดรอย หมายเอาชีวิต อาจทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม เพราะไม่อยากอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น ต่อมาจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและคุณภาพชีวิตได้ หากเป็นอาการหลงผิดคิดว่าคู่ครองของตนนอกใจ อาจส่งผลให้เกิดการทำร้ายคู่ครองนำไปสู่ปัญหาครอบครัวในที่สุด

ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โรคจิตหลงผิด

- ปัจจัยด้านจิตใจ อาจเกิดจากการเลี้ยงดู ที่ไม่ได้รับความอบอุ่น ทำให้ไม่เชื่อใจใคร และมีความรู้สึกไวต่อท่าทีของผู้อื่น

- ปัจจัยด้านสังคม เกิดจากสังคมที่มีความเครียด กดดัน การแข่งขันสูง การเอารัดเอาเปรียบ ทำให้รู้สึกว่าถูกผู้อื่นคุกคาม หรือรู้สึกว่าได้รับการกระทำที่ไม่ดีจากผู้อื่น จึงมีความระแวงได้มากขึ้น

- ปัจจัยด้านชีวภาพ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่พบว่าสัมพันธ์กับสมองส่วนที่ควบคุมความเป็นเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึก

กลุ่มเสี่ยงโรคจิตหลงผิด

ผู้ที่เป็นโรคนี้ สามารถพบได้ในคนที่มีความเครียดสูง ผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน มีฐานะไม่ดี ทำให้มีการปรับตัวที่ผิดปกติ และเกิดความหวาดระแวงได้ ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 18-90 ปี และพบมากในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป

ความแตกต่างของจิตหลงผิดกับประสาทหลอน

- อาการหลงผิด เป็นความผิดปกติในเนื้อหาของความคิด

- อาการประสาทหลอน เป็นการรับรู้ทางประสาทสัมผัสที่ผิดปกติ โดยไม่ได้มีสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น หูแว่ว ได้ยินเสียงพูดคุยเป็นเรื่องราว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครพูด

การบำบัดรักษาโรคจิตหลงผิด

- เน้นที่สัมพันธภาพในการรักษา ความสัมพันธ์ที่ดีสามารถช่วยผู้ป่วยได้ โดยรับฟังด้วยความเข้าใจ ไม่โต้แย้งคัดค้านอาการหลงผิดว่าไม่จริง ในขณะเดียวกันก็ไม่สนับสนุนความเชื่อของผู้ป่วย

- การรักษาด้วยยา ด้วยยารักษาโรคจิตโดยอยู่ในความดูแลของแพทย์

- รับตัวรักษาในโรงพยาบาล หากอาการรุนแรง เช่น มีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง หรือผู้อื่น


advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส