สรุปมาให้ แบบง่ายๆ สั้นๆ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ฉบับ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

22 ธ.ค. 66

สรุปมาให้ แบบง่ายๆ สั้นๆ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ฉบับ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

หลังจากเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.66 สภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม 4 ฉบับในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 369 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 0 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในวาระที่ 2 จำนวน 39 คน โดยใช้ร่างกฎหมายฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอเป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทั้ง 4 ร่าง ประกอบด้วย

• ร่างของคณะรัฐมนตรี นำเสนอโดย คณะรัฐมนตรี
• ร่างของพรรคก้าวไกล นำเสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกล และคณะ
• ร่างของภาคประชาชน นำเสนอโดย อรรณว์ ชุมาพร กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,611 คน
• ร่างจากพรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอโดย สรรเพชญ บุญญามณี และคณะ

กฎหมายการสมรสที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน อ้างอิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ระบุว่า “การสมรสจะทำได้เมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้” ซึ่งในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้ง 4 ฉบับ ล้วนมีหลักการเดียวกัน คือ “การสมรสระหว่างบุคคล 2 คน” หรือใช้คำว่า “บุคคล” แทนคำว่า “ชายและหญิง” ซึ่งหมายรวมถึงคนทุกเพศ แต่อาจมีการใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ สถานะหลังจดทะเบียน ทั้ง 4 ร่าง ใช้คำว่า "คู่สมรส" เหมือนกัน เปลี่ยนจากกฎหมายเดิมที่ใช้คำว่า สามีภริยา หรือ คู่สมรส

istock-1396270352

อายุที่แต่งงานได้

ใน ป.พ.พ. กำหนดว่าต้องอายุ 17 ปี บริบูรณ์ ร่างภาคประชาชนและร่างของพรรคก้าวไกล ระบุให้เป็น 18 ปี ส่วนร่างของ ครม.และพรรคประชาธิปัตย์ ยึดตามกฎหมายฉบับเดิม คือ 17 ปี

การหมั้น

ร่างของรัฐบาลและก้าวไกล ใช้ข้อความว่า "บุคคลทั้งสองฝ่าย ผู้หมั้น ผู้รับหมั้น" ส่วนร่าง พ.ร.บ. ของภาคประชาชน ไม่ได้เสนอให้มีการแก้ไข เนื่องจากมองว่าสามารถสมรสได้โดยไม่ต้องหมั้น

การใช้นามสกุลของคู่สมรส

ร่าง พ.ร.บ. ของพรรคก้าวไกล, พรรคประชาธิปัตย์ และของภาคประชาชน อนุญาตให้ใช้นามสกุลของคู่สมรสได้ ยกเว้นร่าง พ.ร.บ. ของ ครม. ไม่ได้ระบุเรื่องนี้เอาไว้

ให้สิทธิทุกคนเท่าเทียมกัน

ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมทั้ง 4 ฉบับ ให้สิทธิกับคู่รักเพศเดียวกันเท่าเทียมกับทุกคน โดยกำหนดให้สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ สามารถรับมรดกจากคู่สมรสได้ รวมไปถึงสามารถตัดสินใจแทนกันทางการแพทย์ได้

ระยะเวลาบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ร่างของรัฐบาลและก้าวไกล 120 วัน ร่างของภาคประชาชน 60 วัน

การแก้ไขกฎหมายแพ่งฯ เกี่ยวกับบิดามารดากับบุตร

ร่าง พ.ร.บ. ของ ครม. และพรรคก้าวไกล ไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขกฎหมาย ป.พ.พ. เกี่ยวกับบิดามารดากับบุตร แต่ในร่างของภาคประชาชน ได้เสนอให้เปลี่ยนคำในกฎหมาย ที่ระบุคำว่า “บิดา มารดา” ให้เป็นคำว่า “บุพการี”

บทบัญญัติให้หน่วยงานอื่นแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ร่างของรัฐบาลและก้าวไกล ระบุให้ดำเนินการใน 180 วัน ส่วนร่างของภาคประชาชน เสนอให้ใช้ทันที ไม่ต้องรอการแก้กฎหมายอื่น

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม