วันหยุดปีใหม่ ห้าม "รถบรรทุก" วิ่งบนถนน 7 สาย ตั้งแต่ 29 ธ.ค.66-1 ม.ค.2567

25 ธ.ค. 66

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ วันหยุดปีใหม่ ห้ามรถบรรทุก วิ่งบนถนน 7 สาย ทั้งขาขึ้นขาล่อง ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2566 - 1 ม.ค. 2567

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณจักร ห้ามรถบรรุก 10 ล้อขึ้นไป เดินในถนนบางสายช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 พ.ศ.2566 ลงนามโดย พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักร

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ด้วยในช่วงเทศกาลปีใหม่ประจำปี 2567 มีวันหยุดราชการตั้งแต่วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม 2566 ถึงวันจันทร์ที่ 1 มกราคม 2567 ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เห็นชอบให้วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2566 เป็นวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษ จึงทำให้มีวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวัน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2566 ถึงวันจันทร์ที่ 1 มกราคม 2567 (รวม 4 วัน) ซึ่งจะมีประชาชนใช้รถใช้ถนนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดปัญหาด้านการจราจร และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร จึงจำเป็นต้องออกประกาศข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักร ว่าด้วยการกำหนดห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินในถนนบางสาย เพื่อให้เหมาะสมกับการจัดการจราจรในถนนบางสาย ในช่วงเทศกาลดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 139 (1) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ประกอบกับคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 62/2566 เรื่อง แต่งตั้งหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 25 มกราคม 2566 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงออกข้อบังคับไว้ ดังนี้

ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า ‘ข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักรว่าด้วยการกำหนดห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินในถนนบางสายในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2567 พ.ศ. 2566’

ข้อ 2 กำหนดการห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินรถบนถนนบางสาย ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2566 ถึงวันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม 2566 และตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันอังคารที่ 2 มกราคม 2567 ทั้งขาขึ้นและขาล่อง ในถนนดังต่อไปนี้

2.1 ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1) ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 99+800 ถึงกิโลเมตรที่ 106+150 ตำบลหนองยาว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ระยะทาง 7 กิโลเมตร

2.2 ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1) ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 332 ตำบลกลางแดด อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ถึงกิโลเมตรที่ 347 ตำบลหนองกรด อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ระยะทาง 15 กิโลเมตร

2.3 ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2) ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 15+600 ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ถึงกิโลเมตรที่ 102 ตำบลมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 87 กิโลเมตร

2.4 ถนนรังสิโยทัย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117) ตั้งแต่กิโลเมตร ที่ 0+000 ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ถึงกิโลเมตรที่ 7 ตำบลบางม่วง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ระยะทาง 7 กิโลเมตร

2.5 ถนนกบินทร์บุรี – ปักธงชัย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304) ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 165 ตำบลเมืองเก่า อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ถึงกิโลเมตรที่ 222 ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 57 กิโลเมตร
2.6 ถนนบุรีรัมย์ – อรัญประเทศ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 348) ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 71 ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ถึงกิโลเมตรที่ 83 ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ระยะทาง 12 กิโลเมตร

2.7 ถนนเลี่ยงเมืองสระบุรีฝั่งตะวันตก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 362) ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 0+000 ถึงกิโลเมตรที่ 9+288 ตำบลปากเพรียว อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ระยะทาง 9 กิโลเมตร

ข้อ 3 ในกรณีรถบรรทุกบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องเดินรถในถนนดังกล่าวข้างต้นในช่วงเวลาดังกล่าว ภายในจังหวัดเดียวกัน ให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรจังหวัดนั้น ๆ เป็นผู้มีอานาจพิจารณาอนุญาต หากเป็นการขอเดินรถตั้งแต่สองจังหวัดขึ้นไป ให้ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต

ข้อ 4 นับแต่วัน เวลา ที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้ยกเลิก กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ที่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ไว้เป็นการชั่วคราว

ประกาศ ณ วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2566

อ่านประกาศ ราชกิจจาฯ ฉบับเต็ม คลิก

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส