ด่วน! “พิธา” เฮมติศาลรัฐธรรมนูญ รอดคดีถือหุ้น ITV ไม่สิ้นสุดความเป็น สส. เตรียมคัมแบ็กเข้าสภาฯ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 ม.ค. 67 องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีการประชุมหารือลงมติ กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้อง ขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค. 66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ต่อมาเวลา 14.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ว่า ยืนยันศาลไม่ได้ล่าช้า และการที่แสดงความคิดเห็นของผู้ถูกร้องเกี่ยวกับคดีในสื่อต่างๆนั้น ถือว่าไม่สมควรและไม่เหมาะสม เพราะการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะบวกลบก่อนศาลวินิจฉัย อาจเป็นการชี้นำ กดดันศาล ฉะนั้นการกระทำอย่างนี้ถือว่าไม่เหมาะสม ขอเตือนไว้ด้วย
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอวินิจฉัยได้ มีประเด็นพิจารณาว่าสมาชิกภาพ สส.ของนายพิธา สิ้นสุดลงมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธหลายประการ ฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกร้องโอนหุ้นดังกล่าวจริง ถือว่าถือหุ้นไอทีวีอยู่ในวันที่พรรคก้าวไกลยื่นบัญชีรายชื่อต่อ กกต.ในฐานะผู้ร้อง
ส่วนมีข้อพิจารณาว่า ไอทีวี ประกอบกิจการสื่อสารมวลชนหรือไม่นั้น จากการไต่สวนฟังได้ว่า ไอทีวีไม่มีสิทธิประกอบกิจการโทรทัศน์ตามกฎหมายตั้งแต่ 7 มี.ค. 50 แต่ที่ยังคงสถานะเดิม เพื่อดำเนินคดีในชั้นศาลเท่านั้น นอกจากนี้ไม่ปรากฎว่าบริษัทมีรายได้จากกิจการสื่อมวลชน แต่มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรัฐ ตั้งแต่ สปน.บอกเลิกสัญญาจนถึงปัจจุบัน ไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน และไม่ปรากฎหลักฐานมีใบอนุญาตจดแจ้งการพิมพ์และประกอบการกิจการโทรทัศน์
ดังนั้นวันที่ผู้ถูกร้องสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ไอทีวีมิได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อใดๆ การถือหุ้นของผู้ถูกร้อง จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามสมัคร สส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) อาศัยเหตุผลดังกล่าว วินิฉัยว่า สส.ของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตาม มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)