ทวี สอดส่อง ยังไม่ได้รับรายงาน อธิบดีกรมคุมประพฤติ เข้าพบรับนัดรายงานตัว ทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า แจง ระหว่างพักโทษ นั่งบอร์ดกรรมการไม่ได้
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 20 ก.พ. ที่ บริเวณหน้าห้องประชุม 10-09 ชั้น 10 (ห้อง Auditorium) กระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ "1 ปี กับ กฎหมายต่อต้านทรมานและอุ้มหาย หนทางสู่ความยุติธรรม" โดยมี น.ส.เอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน พร้อมร่วมเสวนาทิศทางและความท้าทายในการขับเคลื่อน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ร่วมกับนายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผอ.กองกิจการอำนวยความยุติธรรม และนายรัฐวิช จิตสุจริตวงศ์ ผอ.ส่วนการสอบสวนคดีอาญา สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ซึ่งดำเนินการโดยนางธัญสุดา หน่อแก้ว นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการพิเศษ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
ต่อมา พ.ต.อ.ทวี รมว.ยุติธรรม ได้ออกมาเปิดเผยถึง กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักการลงโทษ ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า ว่า สำหรับขั้นตอนภาพรวมในการดูแลผู้ได้รับการพักโทษ ก็จะมีเงื่อนไขการปฏิบัติตามหลักของกรมคุมประพฤติ และไม่ใช่เงื่อนไขที่ถูกสร้างใหม่ แต่เป็นเงื่อนไขที่ถูกใช้กับบุคคลทั่วไป ซึ่งมีประมาณ 12 ข้อ ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ นั้น เจ้าหน้าคุมประพฤติก็จะมีความเคร่งครัดในการปฏิบัติตามเงื่อนไข เพราะจากรายงานการประชุมเวลามีการเสนอเรื่องการพักการลงโทษเข้ามา จะมีการพักโทษที่จะต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรับทราบและเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้เราก็พบว่าในแต่ละครั้ง ผู้ได้รับการพักโทษถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขก็จะถูกเพิกถอนการพักโทษ ดังนั้น ที่ผ่านมาเฉลี่ยแล้วในแต่ละรอบก็มีประมาณ 100 ราย เช่น ผู้ได้รับการพักโทษไปคบค้าสมาคมกับผู้ค้ายาเสพติด ผู้ได้รับการพักโทษไปกระทำผิดซ้ำ ผู้ได้รับการพักโทษไม่เข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติตามกำหนด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับการพักโทษยังคงอยู่ในกระบวนการของศาลเหมือนเดิม จึงต้องเคร่งครัดและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข และจะไม่มีใครสามารถอยู่เหนือกว่าเกณฑ์ใด ๆ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีของนายทักษิณที่ได้รับการพักโทษ ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า กระบวนการการรายงานตัวจะเป็นอย่างไรนั้น จะอยู่ที่สำนักงานคุมประพฤติของแต่ละพื้นที่เขตนั้น ๆ เพราะอันนี้เป็นเรื่องของกรมคุมประพฤติ ซึ่งตนยังไม่ได้รับรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมคุมประพฤติเข้าพบนายทักษิณแล้วหรือยัง ซึ่งหากมีการเข้าพบแล้ว เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะต้องรายงานแก่อธิบดีกรมคุมประพฤติ โดยไม่ต้องรายงานมายังตนหรือชั้นกระทรวงยุติธรรม เพราะตนทราบว่ากรมคุมประพฤติมีผู้ได้รับการพักโทษถึง 400,000 ราย ซึ่งตามหลักการจะไม่มีการรายงานมาชั้นกระทรวงยุติธรรม แต่ว่าในทุกเดือน ทางกรมคุมประพฤติจะมีการรายงานกับคณะกรรมการพักการลงโทษว่าผู้ใดกระทำผิดเงื่อนไขบ้างหรือไม่ในระหว่างพักโทษ แต่กรมคุมประพฤติทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดตรงไปตรงมาอย่างแน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
เมื่อถามว่าหากผู้ได้รับการพักโทษเป็นผู้ต้องขังจากคดีทุจริตคอรัปชั่น จะมีเงื่อนไขระหว่างการคุมประพฤติที่แตกต่างไปจากผู้ต้องขังรายคดีอาญาทั่วไปหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี แจงว่า เขามีเกณฑ์อยู่ ซึ่งเกิดมานานแล้ว ไม่ได้มาสร้างเกณฑ์ใหม่ ซึ่งเกณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ก็มองว่าบุคคลดังกล่าวบั้นปลายชีวิตก็ควรได้อยู่กับครอบครัว อยู่กับคนที่รัก และโดยปกติแล้ว พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 จะมุ่งอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.ไม่ให้หลบหนี และ 2.ไม่ไปก่อเหตุร้าย ซึ่งเราก็มองว่าผู้สูงอายุ การจะไปก่อเหตุร้ายอะไรโดยสมรรถภาพทางร่างกายคงไม่ไปทำ เราจึงกำหนดนิยามไว้อยู่อย่าง คือ กรณีที่เจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงการรายงานตัวของนายทักษิณกับกรมคุมประพฤติ ว่า หลังจากได้รับการพักโทษ จะมีประมาณ 3-4 ครั้ง หรือกี่เดือนครั้ง ก็จะมีหน่วยงานทำการนัดหมายอยู่ เช่น อาจนัดอีก 1 เดือน หรือ 2 เดือน 3 เดือน แต่ตนไม่ทราบรายละเอียด ต้องไปดูในเงื่อนไข ทั้งนี้ กรณีของอดีตนายกรัฐมนตรี ใช้เงื่อนไขเดียวกันกับผู้ได้รับการพักโทษทุกราย ไม่มีกำหนดเงื่อนไขใหม่ เช่น ต้องรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ ไม่ไปยุ่งเหยิงกับผู้ค้ายาเสพติด เดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ ส่วนการเดินทางข้ามจังหวัดสามารถทำได้แต่ต้องขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติก่อน ส่วนการทำกิจกรรมทางการเมือง ตนไม่ทราบว่ามีการห้ามหรือไม่ แต่สามารถมีคนไปพบปะได้ ส่วนการจะไปเป็นบอร์ดกรรมการไม่สามารถทำได้ เพราะยังอยู่ในการพักโทษ แต่ถ้าได้รับการพ้นโทษแล้วก็มีสิทธิในฐานะประชาชนคนไทยกระทำได้ทุกอย่าง.