"ทวี" ตอกกลับ "จุรินทร์" อย่าใช้อคติ อภิปรายปม "ทักษิณ" ติดคุกทิพย์ ชี้พรบ.ราชทัณฑ์ปี 60 ออกในยุค “ประยุทธ์” ขณะที่จุรินทร์ ฟาด อย่าใช้ ตรรกะวิบัติ
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลุกขึ้นชี้แจง ประเด็นที่มีการพาดพิง ที่เชื่อมโยงไปถึงกรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่าพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ปี 2560 ในยุคนายเศรษฐา ไม่ได้เป็นคนออกแต่ออกในยุค สนช. และใน พรบ.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจอะไรเลย ในพรบ.ฉบับนี้ โดยเฉพาะการบริหารโทษทุกขั้นตอน
พันตำรวจเอกทวี ยังชี้แจงว่า หากนายจุรินทร์ หมายถึงอดีตนายกทักษิณ ชินวัตรยืนยันว่า อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีนายจุรินทร์ นั่งในครม.ด้วย แล้วจะมาพูดว่าเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร
เพราะหลักนิติธรรมได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ และได้เขียนในมาตรา 53 ว่า รัฐต้องให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในอดีตที่ผ่านมา หลักนิติธรรม ไม่เคยมีนิยามไว้ในพจนานุกรม หลังจากรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ได้มีนิยามไว้ในพจนานุกรมหลักนิติธรรมก็คือ หลักที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน คือกฎหมายเป็นใหญ่ กฎหมายแม้แต่ท่านจุรินทร์ ไม่ได้เป็นผู้ออก แต่กฎกระทรวงเมื่อปี 63-64 ท่านยังนั่งอยู่ในครม. กฎกระทรวงนี้ เป็นกฎของท่าน ที่ท่านบอกว่า “ติดคุกทิพย์” ถือเป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก เมื่อเราเขียนไว้ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ มาตรา 55 คือเวลาผู้ป่วย ต้องให้ส่งรักษา และท่านไปดูในเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ไม่ให้กรมราชทัณฑ์มีดุลพินิจเลย ให้ใช้ความเห็นของแพทย์ และเมื่อแพทย์ส่งไปรักษา แล้วเขาบอกว่าให้โรงพยาบาลสถานที่รักษา คือเรือนจำ ก็คือจำคุก ใช้สถานที่จำคุกอื่นก็คือโรงพยาบาล
“ท่านอดีตนายกทักษิณ ก็ไปอยู่ในกฎหมายและกฎกระทรวง ที่ท่านจุรินทร์ เป็นผู้มีความเห็นชอบ เพราะผมไปดูในมติครม. ท่านไม่ได้โต้แย้งเลย นี่คือสิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็น วันนี้ท่านทำให้สังคมสับสน จริงๆผมไม่มีอะไรกับท่าน แต่ผมไม่อยากให้สังคมเกิดความสับสน อยากให้ฟังความให้รอบด้านและไม่อยากให้ใช้อคติในการอภิปราย”
ขณะที่นายจุรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ใช้สิทธิ์พาดพิง ระบุว่า ถึงกฎหมายจะออกในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แต่อยากถามว่า รัฐบาลนี้จะทำถูกทำผิดก็ได้ใช่หรือไม่ ถ้าใช้ตรรกะแบบนี้ ถือเป็น “ตรรกะวิบัติ” และที่ผมถาม ผมอภิปราย คือเรื่องในที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลนี้เต็มร้อย นั่นคือเรื่องระเบียบ ที่จะกำหนดคุณสมบัติ ให้คนที่ไปติดคุกที่บ้านได้ ว่าจะรวมคดีคอรัปชั่นหรือไม่ ถ้าท่านรวมคดีคอรัปชั่น มันแปลว่าจะเกิดการส่งเสริมคอรัปชั่น รวมถึงเรื่องการนิรโทษกรรม จะรวมคดีทุจริต และม.157 ด้วยหรือไม่