เลขาฯ กกต. ยืนยันเดือน ก.ค.ได้ สว.ครบ 200 คนแน่ตามโรดแมพ

16 พ.ค. 67

 

เลขาฯ กกต. ซักซ้อมขอความร่วมมือทุกฝ่ายทำความเข้าใจระเบียบ และวิธีการเลือก สว. ยืนยันได้ครบ 200 คน ตามโรดแมพ 

วันที่ 16 พ.ค. 67 ที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกระทรวงมหาดไทย จัดสัมมนาความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเน้นย้ำการเตรียมความพร้อมในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี 2567 โดยได้ชี้แจงแนวทางปฏิบัติ และขั้นตอนกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และชี้แจงภารกิจในบทบาทของจังหวัด อำเภอ เขต 

โดยนาย แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า เป้าหมายหลักของเราคือจะต้องทำหน้าที่ให้ได้ สว. ครบ 200 คนตามกำหนดเวลา ถ้าทุกคนอยู่ที่ถูกทางก็จะเรียบร้อย แต่ถ้าอยู่ผิดทิศผิดทางก็ทำงานยาก เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และเป็นการใช้เต็มรูปแบบในการเลือก สว.ในครั้งนี้ 

ในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย หรือ กทม. ก็ทำงานร่วมกับสำนักงาน กกต. มาเป็นอย่างดี แล้วหวังว่าจะได้รับความร่วมมือในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งต่อไปจะเป็นการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด ช่วงนี้บางจังหวัดทยอยลาออก ทำให้จะต้องมีการเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง และอีกครั้งคือการออกเสียงประชามติ ซึ่งมีลักษณะเดียวกับการเลือกตั้ง แต่รูปแบบในการลงคะแนนเสียงแตกต่างไป ซึ่งสำนักงาน กกต.ก็ต้องขอแรงสนับสนุน จากทั้งกระทรวงมหาดไทย  กรุงเทพมหานคร และส่วนราชการอื่นฯ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปรษณีย์ กระทรวงการต่างประเทศ การไฟฟ้า ซึ่งสำนักงาน กกต.ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกหน่วยงานในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นสำนักงาน กกต.จะเป็นผู้ออกรับแทนทั้งหมด 

ส่วนการเลือก สว.ครั้งนี้ ก็เป็นงานหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพฯ กฎหมายเขียนไว้ชัดเจน ในระดับอำเภอ นายอำเภอจะต้องมาเป็นผู้อำนวยการเลือก สว.ซึ่งต้องเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้การเลือก สว.ผ่านไปได้ด้วยดี ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ในหน่วยเลือกตั้งให้ผ่านไปได้ด้วยดี จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติก่อนประกาศรายชื่อผู้สมัคร สว.ด้วย ซึ่งในระดับอำเภอถือเป็นชั้นแรกก่อนจะไปถึงระดับจังหวัดและประเทศ 

สำหรับการเลือก สว.ก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ ขณะที่นักวิชาการที่ออกมาพูด อาจทำให้ประชาชนสับสน และด้วยกระบวนการที่ออกแบบโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ และจะต้องดำเนินการให้ได้ สว. 200 คนตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือช่วงเดือน ก.ค. 

ทั้งนี้ จะต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากประชาชน ถึงแม้ว่าจะทำได้แค่ติดตามเฝ้าดูการเลือก สว.ครั้งนี้ 

นายแสวง ยังกล่าวถึงระเบียบต่างๆ ที่ กกต.ออกมา เมื่อถึงหน้างานจริงๆ คงไม่ได้ง่าย  ฉะนั้นต้องมีมาตรการที่จะจัดการ กับกลุ่มจัดตั้งหรือกลุ่มที่ฮั้วกันมา หากเป็นคดีความศาลฎีกาจะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งได้ยกตัวอย่างกรณี "โทรศัพท์ไปขอคะแนน" ศาลฎีกาได้ตัดสินโทษมีถึงขั้นถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งตลอดชีวิต เพราะเป็นการฮั้วกัน 

พร้อมยืนยันว่าไม่มีเงื่อนไขใดที่จะทำให้ประวิงเวลาการประกาศรายชื่อ สว.200 คนช้าออกไป ทั้งขั้นตอนการเลือก หากมีผู้สมัครไม่ครบทุกกลุ่มก็มีกฎหมาย มาตรา 19รองรับไว้ เรื่องคุณสมบัติ ถ้าเอกสารเท็จ ทั้งใบสมัครและเอกสารประกอบเป็นเท็จจะได้ใบดำ เพิกถอนการรับสมัครหรือไม่รับสมัคร ซึ่งศาลต้องมีคำสั่งก่อนวันเลือก 1 วัน หรือหากประกาศให้เป็นผู้สมัครไปแล้ว ไปเจอตอนหลังว่าผิด ลบชื่อได้ทุกชั้นจนถึงระดับประเทศ และแม้ภายหลังศาลจะคืนสิทธิ์ ก็ไม่กระทบในสิ่งที่ทำไปแล้ว ดังนั้นเดินหน้าได้ตลอด ส่วนการพิจารณาคำร้อง ก็ไม่ได้กระทบกับกำหนดการที่วางไว้ 

และในช่วงบ่ายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ร่วมมอบนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุน กกต. ในการจัดการเลือก โดยเน้นย้ำในการทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางทางการเมือง ทำหน้าที่อย่างสุจริตยึดหลัก “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที”  ให้ใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือก สว. ให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งตามระเบียบกฎหมายมีการกำหนดให้นายอำเภอเป็นประธานคณะกรรมการในระดับอำเภอ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยกระทรวงมหาดไทยยังให้การสนับสนุนการเลือกเลือก สว.ทั้ง 4 ด้าน ประกอบไปด้วย 

1.การสนับสนุนประสานงานภารกิจของสำนักทะเบียนกลาง สร้างศูนย์สนับสนุนประสานงานการเลือก สว. ทุกระดับ 2. ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยสนธิกำลังหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่บริหารจัดการทำแผนรองรับการเผชิญเหตุและเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาชุมนุมสาธารณะ 3. ด้านการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบ และ 4. การเป็นตัวกลางทางการเมืองเน้นย้ำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 

ทั้งนี้ในการสัมมนาดังกล่าว มีผู้ที่เกี่ยวข้องมีไม่น้อยกว่า 1,400 คน เข้าร่วม ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม