ย้อนไทม์ไลน์ คดีถอดถอน "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี ปมแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” นั่งเก้าอี้ รมต. หลังศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตา สั่งพ้นตำแหน่งนายกฯ
จากกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน ถูก 40 สว.ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถอนถอนออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปมแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย ในวันนี้ (14 ส.ค.)
สำหรับที่มาที่ไปของคดี มีไทม์ไลน์ ดังนี้
วันที่ 28 เม.ย.2567
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยื่นทูลเกล้ารายชื่อ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
วันที่ 29 เม.ย.2567
หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีเผยแพร่รายชื่อรัฐมนตรีชุดใหม่เพียง 1 วัน นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ไต่สวน นายเศรษฐา ส่อว่ากระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ ในการแต่งตั้งให้ นายพิชิต ชื่นบาน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เนื่องจาก นายพิชิตเคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล กรณีพยายามนำถุงขนมใส่เงินสดจำนวน 2 ล้านบาทอันลือลั่นไปทั้งประเทศ ไปมอบให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระหว่างการพิจารณาคดีที่ดินรัชดาฯ และถูกสภาทนายความถอดชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นเวลา 5 ปี ดังนั้นการที่นายเศรษฐาเสนอชื่อนายพิชิตจึงส่อว่ากระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง
วันที่ 15 พ.ค.2567
สว.จำนวน 40 คน ร่วมกันเข้าชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 โดยยื่นผ่านพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ในขณะนั้น) เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของนายเศรษฐา ทวีสิน และนายพิชิต ชื่นบาน หลังมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นที่ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบีติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
วันที่ 21 พ.ค.2567
นายพิชิต ชื่นบาน ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งรับไม่รับคดีไว้พิจารณา หลังนั่งเก้าอี้ได้เพียง 23 วัน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นทางออกไม่ให้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี
วันที่ 23 พ.ค.2567
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง รับคำร้อง และยังมีมติ 5 ต่อ 4 เสียง ไม่สั่งให้นายเศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี
วันที่ 12 มิ.ย.2567
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานภายใน 17 มิ.ย. 67 และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันอังคารที่ 18 มิ.ย.67
วันที่ 18 มิ.ย.2567
ศาลขีดเส้น 15 วัน ให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องส่งสำเนาเอกสารหลักฐาน ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันที่ 10 ก.ค.67
วันที่ 10 ก.ค.2567
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา ให้เรียกข้อมูลเพิ่มเติมและรอคำชี้แจงและพยานหลักฐานจากหน่วยงานหรือบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเรียกไปก่อนหน้านี้ กำหนดนัดพิจารณาคดีต่อไปในวันที่ 24 ก.ค.67
วันที่ 24 ก.ค.2567
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน พร้อมสั่งให้นำคำร้องที่ผู้เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้รวมไว้ในสำนวนคดี ก่อนกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 14 ส.ค.2567 เวลา 15.00 น.
29 ก.ค.2567
มีการรายงานข่าวเรื่องเอกสารชี้แจงจำนวน 32 หน้าของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยมีใจความสำคัญว่า การแต่งตั้งนายพิชิต ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดตามข้อกล่าวหาของ 40 สว.แต่เป็นการแต่งตั้งตามปกติ ตามความรู้ความสามารถและคำนึงถึงผลประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ ตนมีภูมิหลังในการประกอบอาชีพทางธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด ไม่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ จนไม่อาจชี้ขาดได้ว่า นายพิชิต เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
วันที่ 14 ส.ค.2567
ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 14 ส.ค.2567 เวลา 09.30 น. นัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 15.00 น. โดย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5:4 สั่งให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ไม่ปฏิบัติตามหลักจริยธรรมอย่างร้ายแรง และ "รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ"