บ่ายนี้รู้แน่! ศาลรธน.นัดชี้ชะตา “เศรษฐา” ปมแต่งตั้ง พิชิต เป็นรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยเป็นไปได้ 2ทาง รอด กับ ไม่รอด และจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้
เวลา 15.00 น. วันนี้ (14ส.ค.67) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัย กรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน ขอให้ศาลชี้ขาด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) หรือไม่
กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำความขึ้นกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา สิ้นสุดลง
คดีนี้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” รับคำร้องเฉพาะในส่วนของ เศรษฐา ทวีสิน ไว้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ
โดยคดีนี้ศาลวินิฉัย ออกมาได้ 2 แนวทาง คือ หากศาลวินิจฉัย ว่า "รอด" นายเศรษฐาได้ไปต่อ ครม.ทั้งคณะยังอยู่ รัฐบาลได้บริหารประเทศต่อ แต่ก็มีรายงานว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.ย.2567 หลังจาก พ.รบ..งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ผ่านรัฐสภาแล้ว
โดยมีกระแสข่าวว่า อาจจะมีการสลับขั้วพรรคร่วมรัฐบาล ปรับพรรคพลังประชารัฐออก และเติมเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาแทน รวมไปถึงการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรี ในโควตาพรรค โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค ออกมายอมรับแล้วว่า ได้เสนอชื่อ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค ให้เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในโควตาของพรรคที่มีตำแหน่งว่างอยู่ และที่สำคัญ เดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
แต่อีกแนวทางหนึ่ง หาก "ไม่รอด" ต้องหลุดจากตำหน่งนายกฯ คนที่ 30 ทันที ไม่สามารถรักษาการนายกฯได้อีก และจะส่งผลให้ "ครม." ไปทั้งคณะ
จากนั้น ครม.ชุดเก่าจะกลายเป็น ครม.รักษาการ (จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่) โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจยุบสภา แต่ก็ต้องลุ้นอีกว่า จะมีการยุบสภาฯ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ซึ่งจะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ภายในระยะเวลา 45-60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด
แต่หากไม่ยุบสภาฯ ก็อาศัยความเห็นชอบสภาฯโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่และจัดตั้งรัฐบาลใหม่แทน มีการโหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองที่ได้เสียงในสภาไม่น้อยกว่า 25 เสียง เคยแจ้งไว้ต่อ กกต.ในการเลือกตั้งปี 2566 โดยแคนดิเดตที่เหลืออยู่ในตอนนี้ 6 คน ประกอบด้วย
1.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย
2.นายชัยเกษม นิติศิริ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย
3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคภูมิใจไทย
4.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ
5.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แคนดิเดตนายกฯ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ
6.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคประชาธิปัตย์