ด่วน!! เศรษฐา ไม่รอด พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ปมแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน ส่งผลให้ครม.ไปทั้งยวง
จากกรณี การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ของรัฐบาล นายเศรษฐา เมื่อช่วงเดือน เม.ย.67 ที่มีการแต่งตั้งให้นาย พิชิต ชื่นบาน ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ต่อมาสมาชิกวุฒิสภาชุดเดิม จำนวน 40 คน รวบรวมรายชื่อ อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 82 ในขณะที่อยู่ในช่วงรักษาการ สว. ส่งเรื่องขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา และ ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของนายพิชิต หลังพบว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) และ ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) จากกรณีทูลเกล้าฯ รายชื่อทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ผ่านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาในขณะนั้น เพื่อให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
จากนั้นนายพิชิต ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
และเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 67 ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณานั้น
ล่าสุดเวลา 15.00 น. วันที่ 14 ส.ค. 67 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกบังลังก์อ่านคำวินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนจริยธรมร้ายแรง เมื่อนายกฯสิ้นสุดลง รัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีหลุดจากตำหน่งนายกฯ คนที่ 30 ทันทีแล้ว ไม่สามารถรักษาการนายกฯได้อีก และจะส่งผลให้ "ครม." ไปทั้งคณะ
จากนั้น ครม.ชุดเก่าจะกลายเป็น ครม.รักษาการ (จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่) โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจยุบสภา แต่ก็ต้องลุ้นอีกว่า จะมีการยุบสภาฯ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ซึ่งจะต้องจัดเลือกตั้งใหม่ภายในระยะเวลา 45-60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด
แต่หากไม่ยุบสภาฯ ก็อาศัยความเห็นชอบสภาฯโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่และจัดตั้งรัฐบาลใหม่แทน มีการโหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองที่ได้เสียงในสภาไม่น้อยกว่า 25 เสียง เคยแจ้งไว้ต่อ กกต.ในการเลือกตั้งปี 2566 โดยแคนดิเดตที่เหลืออยู่ในตอนนี้ 6 คน ประกอบด้วย
1.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย
2.นายชัยเกษม นิติศิริ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย
3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคภูมิใจไทย
4.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคพลังประชารัฐ
5.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แคนดิเดตนายกฯ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ
6.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคประชาธิปัตย์
Advertisement