เริ่มแล้ว!! ประชุมสภาฯ โหวต นายกฯคนที่31 สรวงศ์ เสนอชื่อ แพทองธาร ชินวัตร แบบไร้คู่แข่ง

16 ส.ค. 67

เริ่มแล้ว!! สภาคึกคัก ประชุมวาระพิเศษ โหวตนายกฯคนที่31 สรวงศ์ เทียนทอง ลุกขึ้นเสนอชื่อ แพทองธาร ชินวัตร โดยไม่มีคู่แข่ง 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ส.ค.67 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ โดยมี วันหมูหะมัด นอร์มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยบรรยากาศมี สส.ทยอยมาเข้าร่วมประชุมอย่างคึกคัก

จากนั้นเวลา 10.20 น. นาย สรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลในการเสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผู้เสนอชื่อ น.ส.แพทองธารเพียงคนเดียว โดยมีผู้แสดงตนรับรองการเสนอชื่อ 291 คน ก่อนที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะเปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายคุณสมบัติ 

จากนั้นนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ลุกขึ้นขออนุญาตฝ่ายค้านขออภิปราย 2 คน คือนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ จากพรรคไทยสร้างไทย และนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ ถามกลับว่าอภิปรายในประเด็นไหน นายปกรณ์วุฒิจึงกล่าวว่า ใช้เวลาไม่นาน เป็นการอภิปรายคล้ายกับตอนที่โหวตเห็นชอบนายเศรษฐา 

ทำให้นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นกล่าวว่า วาระมันมีแค่นี้ ตนเข้าใจทุกคนว่าอยากอภิปรายสอบถาม แต่มันไม่อยู่ในระเบียบ ทางฝ่ายค้านก็ยังไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็น แล้วคนที่ถูกเสนอชื่อก็ไม่ได้มาอยู่ในที่ประชุม 

“ผมว่าวาระโอกาสในอนาคตคงเจอกันเรื่อยๆ จากการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ผมอยากให้เป็นไปตามระเบียบวาระ จึงไม่ควรมีการอภิปราย เพราะอะไร เราก็ทราบอยู่แล้ว  ตอนนี้มีวาระอยู่เพียงแค่นี้ ผมสนับสนุนท่านประธานให้มีการลงคะแนนตามที่ระเบียบประเพณี” นายอดิศร กล่าว 

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล กล่าวชี้แจงว่า ตอนที่ประชุมร่วมกับฝ่ายค้าน ไม่มีการพูดคุยกันว่าอภิปรายคุณสมบัติคนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี  เพราะฉะนั้น การอภิปรายจึงเป็นการเสนอแนะซักถามสิ่งที่นายกรัฐมนตรีจะต้องทำในอนาคต แต่อภิปรายคุณสมบัติ ไม่มีข้อบังคับในรัฐธรรมนูญ จึงขอกราบเรียนท่านประธานอย่างนี้ว่าขอเวลาครึ่งชั่วโมง นายปกรณ์วุฒิโทรมาเมื่อคืน ตนจึงบอกว่า 20 นาทีไม่เกินนี้ 

นายวันมูหะมัดนอร์ จึงกล่าวว่า ถ้าอภิปรายเรื่องคุณสมบัติ เราไม่มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติ ต้องให้องค์กรอื่น สภาตรวจสอบไม่ได้ ต้องมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญหรือคนที่มีอำนาจพิจารณาในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องนโยบายต้องรอไว้ตอนโปรดเกล้าฯ และเสนออภิปราย แต่ก็ให้เกียรติประธานวิปทั้ง 2 ฝ่าย 20 นาที 

นายประยุทธ์ ศิริพานิช จึงขอลุกกล่าวต่อว่า ประธานเป็นผู้ควบคุมการประชุม จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมาย ตนเคารพความคิดเห็น และข้อกังวลใดๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องสอดคล้องกับกฎหมายด้วย ตนไม่อยากขัดใจท่านสมาชิก ไม่อยากขัดใจท่านประธานวิปฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ที่เป็นข้อตกลงกัน แต่ทั้งนี้ ข้อตกลงใดๆ มันจะต้องสอดคล้องตามข้อบังคับ 

“ท่านประธานครับการที่ท่านทำหน้าที่ในการควบคุมที่ประชุม เมื่อไม่มีข้อบังคับ ผมไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงระหว่างวิปฝ่ายค้านและรัฐบาลทั้งที่ผมเป็นสมาชิกของรัฐบาลก็ตามท่านประธานกล้ารับรองผมหรือไม่ว่าใครจะพูดเรื่องอะไร ผมไม่เห็นด้วย” 

ต่อมา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ลุกขึ้นชี้แจงเหตุผลว่า ในการเสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปีที่ผ่านมา ก็มีเหตุการณ์ลักษณะเดียวกับวันนี้ แต่ก็ยังมีการอภิปรายได้ เช่นเดียวกับ นายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคประชาชน ที่ยืนยันว่า การเห็นต่างระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้านเป็นเรื่องปกติ แต่ควรพูดคุยกันให้เดินหน้าต่อได้ ไม่จำเป็นต้องลงมติเรื่องนี้ 

จากนั้น นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ก็ได้หารือให้ประธานสภาไม่จำเป็นต้องลงมติเช่นกัน เพราะเป็นการประนีประนอมกันระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาขณะที่ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ในฐานะ สส.พรรคภูมิใจไทย ย้ำว่า การตัดสินใจครั้งนี้ของประธานสภาจะเป็นการกำหนดบรรทัดฐานให้การเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปทุกครั้งในอนาคต 

นายวันมูหะมัดนอร์ จึงวินิจฉัยให้วิปทั้งสองฝ่ายตกลงกัน และให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่เกิน 20 นาที โดยไม่ให้ล่วงเกินไปถึงเรื่องคุณสมบัติของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะไม่ใช่หน้าที่ของสภา พร้อมขอให้ทุกฝ่ายถอยกันคนละก้าว

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส